สมเด็จพระสังฆราช ทรงประทานพระโอวาท “พึงเพิ่มพูนความเสียสละ” ในพิธีประทานปริญญาบัตร มมร. ปี 2561

0
1972

วันนี้ (วันอาทิตย์ ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑) เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จยังอาคารหอประชุมสุชีพ ปุญญานุภาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ในพิธีประทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประจำปี ๒๕๖๑ โอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระโอวาท ความตอนหนึ่งว่า

“ในฐานะที่เราต่างก็สำเร็จการศึกษามาจากสถาบันนี้เหมือนกัน แต่อาตมาสำเร็จการศึกษามานานแล้ว วันนี้จึงขอปรารภข้อคิดบางประการกับท่านสักเล็กน้อย เหมือนเช่นทุกปี ในฐานะรุ่นพี่พูดกับรุ่นน้อง ทุกท่านที่สำเร็จการศึกษา ล้วนเป็นผู้ทรงศักดิ์ และสิทธิ์แห่งปริญญาบัตร สมตามภูมิรู้ที่ตนมีจากการศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ดี ปริญญาบัตรนี้จะไม่มีคุณค่าอย่างใดเลย หากท่านไม่นำความรู้ที่ได้อบรมสั่งสมมา ไปใช้เพื่อประโยชน์ของมหาชนทั้งปวง โอกาสนี้ จึงขอเน้นย้ำคุณธรรมสำคัญที่เรียกว่า ‘จาคะ’ คือความเสียสละ ให้บัณฑิตทุกท่านยึดถือเป็นอุดมการณ์ของการดำเนินชีวิต

ความเสียสละเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานของผู้ที่อยู่ร่วมกันในสังคม ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเสียสละแบ่งปันให้แก่กัน ไม่คับแคบ ไม่เห็นแก่ตัว ย่อมเป็นคุณธรรมเครื่องผูกมิตรไมตรี ยึดเหนี่ยวจิตใจกันไว้ได้ ความเสียสละจึงจัดเป็นคุณธรรมสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดความสามัคคีในสังคมทุกระดับ

นอกจากจาคะ จะหมายถึงการสละสิ่งของ และความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นแล้ว ยังหมายรวมถึงการสละละกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายให้ได้อีกด้วย บุคคลผู้เพิ่มพูนความเสียสละอยู่เป็นนิตย์ ย่อมสามารถละความโลภ ความความโกรธ และความหลง ให้เบาบางจางหายไปจากจิตใจ จนสามารถเข้าถึงความสุขอย่างยิ่งได้ในเบื้องปลาย หากบัณฑิตทั้งหลายสามารถปฏิบัติตนตามพระพุทธภาษิตที่ว่า ‘จาคมนุพฺรูเหยฺย’ ซึ่งแปลว่า ‘พึงเพิ่มพูนความเสียสละ’ ให้ได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว ความเสียสละ ย่อมนำไปสู่ความละคลายจากต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง การสละอันนำไปสู่การละนี้เอง คือการได้มาซึ่งความซาบซึ้งในรสแห่งอมตธรรม หาใช่การสูญเสียสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปเลยแม้แต่น้อย เพราะฉะนั้น ความ ‘เสียสละ’ ที่ถูกต้องแท้จริงนั้น จึงเสมอด้วยการ ‘ละ’ อัตตาตัวตนให้เบาบางลง จนหมดสิ้นไป อันนับเป็นกิจสูงสุดแห่งการศึกษาในพระพุทธศาสนา หากบัณฑิตมีอุดมการณ์แห่งชีวิตอันสอดคล้องกับพระพุทธานุศาสนีเช่นนี้ ความสุขความเจริญ ทั้งในทางโลกและในทางธรรม ย่อมเป็นที่หวังได้โดยแท้”

พระเทพบัณฑิต อธิการบดี มมร. กล่าวว่า มมร.เป็นสถานศึกษาที่ตั้งขึ้นโดยพระบรมราชโองการแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๓๖ และตามพระดำริแห่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูงของพระภิกษุสามเณร ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงโปรดให้จัดการศึกษาเป็น ๔ คณะ คือคณะศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ หลังจากนั้นในปี พ.ศ.๒๕๓๑ สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้บัณฑิตวิทยาลัยจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ๒ สาขาวิชา คือ สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา และสาขาวิชาพุทธศาสนาและปรัชญา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นเรียกว่า พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ในกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๐ และในปีการศึกษา ๒๕๔๘ สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้บัณฑิตวิทยาลัยจัดการศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขาวิชาศึกษาพุทธศาสน์ศึกษา

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยฯ ได้ขยายการศึกษาไปในส่วนภูมิภาคต่างๆ รวม ๗ วิทยาเขต ๓ วิทยาลัย และได้สนองงานคณะสงฆ์ธรรมยุตในการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาในนานาอารยประเทศ ในการประทานปริญญาบัตร ประจำปี ๒๕๖๑ นี้ สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิต จำนวน ๒๔ รูป/คน ปริญญามหาบัณฑิต จำนวน ๒๘๔ รูป/คน และปริญญาบัณฑิต จำนวน ๑,๗๐๐ รูป/คน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการจัดพิธีประสาทปริญญาบัตรครั้งนี้ มีพระเทพบัณฑิต อธิการบดี มมร. คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยฯ พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม อธิบดีผู้พิพากษา ภาค ๗ นายสด แดงเอียด อดีตอธิบดีกรมการศาสนา ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๑๑ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม ผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้กำกับการสถานีตำรวจพุทธมณฑล เฝ้ารับเสด็จ