สคล.จับมือสสส. จัดเสวนารณรงค์ “ไม่แหกพรรษา”

0
1663

ร้อยดวงใจ ชวน ช่วย เชียร์ คนบวชใจอยู่ต่อให้ครบพรรษา

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2561 สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ( สสส.) ได้จัดเสวนา “ร้อยดวงใจ ชวน ช่วย เชียร์ งดเหล้าเข้าพรรษา..สู่ครบพรรษา” ภายใต้โครงการรณรงค์งดไม่แหกพรรษา เพื่อให้เกิดกำลังใจคนบวชใจไปต่อให้ครบ 3 เดือน  ณ ห้องเบญจรัตน์ โรงแรมเอบีน่า กรุงเทพฯ

นายสมหมาย ศุกรวัติ ผู้ใหญ่บ้านเกาะวิหาร ตำบลทุ่งพลา อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา เล่าว่า เจ้าอาวาสที่วัดเคยเป็นเพื่อนดื่มด้วยกันมาชวนงดเหล้าเข้าพรรษาหลายครั้ง และปีนี้นายอำเภอก็มาชวนเข้าโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา เพื่อเป็นแบบอย่างกับคนอื่น  ปีนี้จึงตั้งใจงดเหล้าจริงจัง แล้วยังได้ตัดสินใจถอนหุ้นส่วนโรงงานสุราชุมชนที่ทำกับเพื่อนด้วย

“ที่ผ่านมาเคยขายได้กำไรวันละ 14,000 บาท  เห็นคนในชุมชนเมื่อกินเหล้ากันแล้ววันๆ ไม่ทำอะไร เช้า เที่ยง เย็น กินแต่เหล้า ทำให้เสียสุขภาพ ทำให้เสียอนาคตของลูกๆ ของครอบครัว และเห็นว่าคนในหมู่บ้านตายเพราะเหล้าของตนเยอะแล้ว มีงานศพคนที่ตายจากเหล้ามาเรื่อยๆ ก็ทำให้คิดว่าถ้าเราเลิกตรงนี้ ก็จะทำให้เข้าถึงเหล้าได้ยากขึ้น”

ผู้ใหญ่บ้านเกาะวิหาร บอกเพิ่มเติมว่า พรรษานี้มีคนในชุมชนตำบลทุ่งพลา เข้าร่วมโครงการ 50 คน จากนักดื่มกว่า 120 คน ส่วนหนึ่งเป็นวัยรุ่น ผ่านการงดเหล้าเข้าพรรษามาเกือบ 2 เดือนแล้ว ยังไม่มีใครแหกพรรษา เพราะในชุมชนได้มีกิจกรรมล้อมวงคุย แลกเปลี่ยนปัญหาอุปสรรค อีกทั้งยังมีกลุ่มจิตอาสาพัฒนาหมู่บ้าน ได้มีการลงเยี่ยมบ้านด้วย  ขณะนี้มีเพื่อนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่งดเหล้าปีนี้ ตั้งใจงดเหล้าโดยจะนำค่าเหล้ามาเป็นค่าผ่อนรถป้ายแดง และคิดว่ากว่าจะผ่อนหมด 5 ปีก็คงเลิกเหล้าได้ตลอดชีวิตเลย

 

นางเพ็ญทิวา สารบุตร นักวิชาการวิชาชีพสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. โคกเพชร อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า เครื่องมือสำคัญที่ทำให้กระบวนการบำบัดเสริมพลังช่วยเลิกเหล้า ทำด้วยการ 1) “ถอนเหล้าจากร่างกาย  ต้องถอนเหล้าออกจากหัวใจคนดื่มด้วย” โดยสร้างให้คนดื่มเห็นคุณค่าของตนเองและไม่สร้างปัญหาใหม่ให้คนที่เลิกดื่มอีก 2) เทคนิค และวิธีที่ถูกต้องในการ ชวน ช่วย เชียร์ ซึ่งจะมีทีม อสม.เสริมพลัง และเสริมพลังให้ อสม.ไปด้วย โดยจะค้นหาคนดื่มในชุมชน และทำแผนที่คนดื่มว่ามีอยู่ตรงไหน  อสม.จะต้องเข้าไปดูแลถามเยี่ยมให้กำลังใจ สำหรับการดูแลผู้ดื่มที่ติดหนักจะมีกระบวนการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการดูแลและช่วยเหลือผู้ติดสุราเป็นพิเศษด้วย 3) แกนนำคนหัวใจเพชร (เลิกเหล้ามากกว่า 3 ปีขึ้นไปหรือเลิกเหล้าตลอดชีวิต) ใช้คุณค่าของคนที่เลิกดื่มได้แล้ว มาช่วยเพื่อนต่อไป 4) กำลังใจจากครอบครัว ชุมชน คนที่อยู่รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือคนในชุมชนจะต้องช่วยให้กำลังใจ เพราะในคนที่หยุดดื่มอาจจะมีพฤติกรรมซึมเศร้า ซึ่งก่อนจะดื่มก็เขาต้องมีปัญหา และสาเหตุที่ทำให้เขาดื่ม ดังนั้นคนรอบข้างต้องไม่ซ้ำ หรือย้ำ ผลกระทบให้เป็นปมปัญหาใหม่ ควรพูดประเด็นเรื่องเสริมแรงบวกมากกว่า และปีนี้ ได้ช่วยดูแลนักดื่ม ที่ต้องได้รับการบำบัดจำนวน 20 คน

โครงการงดเหล้า นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เปิดเผยถึงโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาในปีนี้ว่า ทางเครือข่ายงดเหล้า ได้ดำเนินงานใน 155 อำเภอทั่วประเทศ ร่วมกับนายอำเภอ โดยมีชุมชนเข้าร่วมกว่า 1,100 แห่ง ขณะนี้ การดำเนินงานอยู่ในขั้น “ช่วย” ให้คนบวชใจสามารถมีกำลังใจไปต่อจนครบพรรษา เนื่องจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า จำนวนคนตั้งใจงดเข้าพรรษามีโอกาสที่จะกลับไปดื่ม (แหกพรรษา) ถึง 30-40% เมื่อผ่านมา 1 เดือน สาเหตุสำคัญที่กลับมาดื่มอีกครั้ง คือ เพื่อนชวน ตนเองทนไม่ได้ มีงานกินเลี้ยงฟรีในชุมชนจูงใจ เป็นต้น

จากการทำงานรณรงค์งดเหล้าในภาคนโยบายก็มีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก นายสุชาติ ภาเจริญ นายอำเภอนักรณรงค์ อำเภอบางระจัน กล่าวถึงการทำงานว่า จากการทำงานงดเหล้าเข้าพรรษาปีที่ผ่านมา(2560) ได้ทำเรื่องชุมชนงดเหล้าเข้าพรรษา โดยทำโครงการ “ชาวบางระจัน ชุมชนงดเหล้าพักตับ” ที่ตำบลพักทัน อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งมีผู้เข้าร่วมบวชใจ และเป็น “คนหัวใจหิน” งดเหล้าครบพรรษาจำนวน 230 คน และ “คนหัวใจเพชร” เลิกเหล้า 3 ปีขึ้นไป จนเลิกเหล้าตลอดชีวิตจำนวน 13 คน ซึ่งขณะนี้กำนันผู้ใหญ่บ้านเข้าร่วมเป็นแกนนำงดเหล้าด้วย

 

นายอำเภอบางระจัน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับปี 2561 ได้มีนโยบายขยาบผลให้เข้าร่วมทั้ง 8 ตำบล ในอำเภอบางระจัน ทำโครงการ “ครัวเรือนปลอดเหล้า” ซึ่งเป็นการเชิญชวนครอบครัวที่มีคนดื่มชวนกันเข้าร่วมโครงการ ฯ โดยจะเน้นให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านลงเยี่ยมบ้านคนบวชใจ เอาใจช่วยให้คนบวชใจงดได้ให้ครบพรรษา ในโครงการได้มีการทำป้ายติดหน้าครัวเรือนปลอดเหล้า บ้านไหนเข้าร่วมโครงการจะมีป้ายติดให้กำลังใจและให้คนในชุมชนรับรู้ว่าบ้านนี้กำลังมีคนบวชใจ เมื่อครบพรรษาจะมีการมอบเกียรติบัตร เชิดชูเกียรติหลังกิจกรรมออกพรรษาด้วย

นายธีระ กล่าวต่อไปว่า เครือข่ายงดเหล้า มีขั้นตอนการดำเนินงาน ก่อนเข้าพรรษา เรียกว่า ขั้นตอนการ “ชวน” ให้มาร่วมโครงการในช่วงก่อนเข้าพรรษาประมาณ 1 เดือน  ซึ่งในพื้นที่การทำงาน 155 อำเภอ มีชุมชนสมัครเข้าร่วม 1,100 ชุมชนจากทั่วประเทศ มีผู้ลงนามเข้ามาร่วมในโครงการคนบวชใจของเครือข่ายงดเหล้าเข้มข้น จำนวน 34,000 คน ในขณะที่เครือข่ายฯได้ตั้งเป้าไว้ที่จำนวน 7,000 คนเท่านั้น และในขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการ “ช่วย” คือกระบวนการต่างๆ ทั้งระดับนายอำเภอ ผู้นำท้องถิ่น และแกนนำชุมชน ร่วมกับคนหัวใจเพชร หรืออาสาสมัครนักรณรงค์งดเหล้าที่จะทำกิจกรรมให้กำลังใจ กิจกรรมสำคัญๆ คือ การติดตามถามเยี่ยม การทำกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ การล้อมวงชวนคุยในชุมชน โดยคนหัวใจเพชรจิตอาสา(คนที่เลิกเหล้าไม่น้อยกว่า 3 ปี) ซึ่งเคยมีประสบการณ์เลิกเหล้าจะช่วยให้กำลังใจด้วย

นอกจากนี้ได้มีเสียงสะท้อนจากครอบครัวคนบวชใจอีกว่า รอคอยช่วงเข้าพรรษาในทุกปี เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด ครอบครัว ได้กินข้าวพร้อมหน้า มีเวลาได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งนี้ ทางเครือข่ายงดเหล้ายังจะมีกิจกรรมที่ให้ครอบครัวใช้เวลา และโอกาสร่วมกัน เช่น กิจกรรมวิ่งพักตับ 9 เส้นทาง 9 ภาค 9 วัฒนธรรม เป็นกิจกรรมส่งกำลังใจให้คนบวชใจ สู้ต่อให้ครบพรรษา หรืออาจเป็นกิจกรรมอื่นๆ ที่ครอบครัวสามารถได้ทำร่วมกันอีกด้วย

//////////////////////////////////////////////////////////////////