ศูนย์พิทักษ์ฯ จี้พศ.เปิดฮอตไลน์ช่วงโควิดระบาด ให้คำแนะนำพระ-เณร ด้าน “พระมหาหรรษา” เสนอทางออก 5 มาตรการ ศอฉ.

0
553

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส

พระครูปลัดกวีวัฒน์ รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอให้ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในเรื่องต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้วัดทั่วประเทศได้รับทราบตรงกัน แม้ว่าจะมีหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานที่ให้คำแนะนำ แต่ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้ที่ผ่านมามีข่าวให้เห็นถึงความขัดแย้งจากแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกันอยู่ ดังนั้นทางพศ.อาจจะต้องเปิดศูนย์ฮอตไลน์ 24 ชม. เพื่อให้คำแนะนำกับพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศ เช่น แนวทางปฏิบัติในการบำเพ็ญกุศล การฌาปนกิจศพ การทำวัตรสวดมนต์ การบิณฑบาต กิจวัตรต่างๆ และเมื่อใดที่ควรต้องใช้มาตรการปิดวัด และเมื่อปิดวัดแล้วต้องปฏิบัติอย่างไร เป็นต้น

ด้านพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) กล่าวว่า มี 5 ข้อเสนอเชิงปฏิบัติการ บ้าน-วัด-ราชการ (บวร) ต่อมาตรการบริหารจัดการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนี้ 1.การเผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิด บ้าน วัด ราชการ ต้องกำหนดพื้นที่เผาศพร่วมกัน ในเบื้องต้นที่มีคนเสียชีวิตจำนวนน้อย ให้ใช้แนว 1 จังหวัด 1 สถานที่เผาศพ โดยให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และพศ. ออกแบบพิธีกรรมและขั้นตอนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของโรคเพื่อจัดการไม่ให้โรคแพร่ระบาดแบบครบวงจร 2.การบวชพระกับ Social Distancing ซึ่ง Social Distancing คือ การจัดระยะห่างระหว่างกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อต้องมีระยะ 2 เมตร ในขณะที่งานทำพิธีสวดญัตติจตุตถกรรมตามพระวินัยเพื่อเป็นพระภิกษุในอุโบสถต้องนั่งให้ได้หัตถบาส คือ 1 ศอก ทางออกจึงควรเลื่อนการบวชพระออกไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

พระมหาหรรษา กล่าวต่อไปว่า  3.การบิณฑบาต การที่หน่วยงานรัฐห้ามพระสงฆ์บิณฑบาตเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด  ต้องมีมาตรการดูแลพระสงฆ์ให้เหมาะสม โดยรัฐอาจจัดงบประมาณสนับสนุนวัดต่างๆ เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ในฐานะที่พระสงฆ์เป็นพลเมืองของประเทศเช่นเดียวกัน ในขณะที่พศ.ต้องเข้ามาช่วยจัดวางมาตรการ โดยให้สำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด(พศจ.) เข้ามาช่วยถวายการอุปัฏฐาก 4.การทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น เป็นกิจวัตรที่พระสงฆ์ต้องทำเพื่อขจัดขัดเกลากิเลสให้เบาบางลง ไม่จำเป็นต้องรวมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ สามารถทำส่วนตัวได้ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้วิธีการอื่นๆ ในการขัดเกลาผ่านการใช้หลักอาณาปานสติ มีสติกับลมหายใจในทุกขณะจิต ก็สามารถเจริญในธรรมได้ตลอดเวลา 5.การประเคนภัตตาหารและนั่งฉันภัตตาหาร เมื่อการเว้นระยะห่างต้องใช้พื้นที่ 2 เมตร แต่การประเคนในวิถีปฏิบัติต้องมีระยะห่าง 1 ศอก ในสถานการณ์เช่นนี้ควรประยุกต์วิธีการประเคนให้เหมาะสม สาระสำคัญจึงอยู่ที่การประเคนด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ นอกจากนี้ การนั่งฉันเป็นกลุ่มใหญ่ย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงอีกด้วย