ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ ขอตอบปัญหา “โต ซิลลี่ ฟูลส์” ครูสอนศาสนาอิสลาม

0
2255

ทำไมอิสลามถึงไม่มีรูปปั้น เหมือนชาวพุทธ

จากกรณีที่ โต ซิลลี่ ฟูลส์ หรือ นายฟิรเดาส์(วีรชน) ศรัทธายิ่ง ครูสอนศาสนาอิสลาม ได้จัดรายการ “โต ตาล” คู่กับ นายมูฮัมหมัดอาลี(ตาล) รามบุตร ในรายการ โต-ตาล เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 ทาง Fanpage รายการ โต-ตาล https://www.facebook.com/ToeTal/ ช่วงหนึ่งของรายการ (นาทีที่ 1:06:20 ถึง นาทีที่ 1:13:00) ได้พูดคุยกันในประเด็นที่ว่า “ทำไมอิสลามถึงไม่มีรูปปั้น เหมือนชาวพุทธไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ” และ นายฟิรเดาส์(วีรชน) ศรัทธายิ่ง ได้แสดงความเห็น เช่น ตอบว่า “…ในฐานะผู้ศรัทธา ผมจะไม่กราบสิ่งใดที่ต่ำเท่าผม หรือต่ำกว่าผม รูปปั้นเนี่ยผลักก็ตกแตกละ มันต่ำกว่าผมแล้ว มันไม่มีชีวิต จะไหว้ทำไมสิ่งไม่มีชีวิต รูปร่างอัปลักษณ์กว่าผม ปั้นให้ตายก็หล่อสู้ผมไม่ได้…”

ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้ติดตามความเคลื่อนไหวทางสังคมออนไลน์และมีความกังวลว่าในประเด็นดังกล่าวอาจจะทำให้เป็นประเด็นที่สร้างความไม่เข้าใจกันระหว่างศาสนิกได้จึงขอนำการตอบปัญหา เรื่อง “การกราบไหว้พระพุทธรูป” โดย พระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) วัดบวรนิเวศวิหาร อดีตประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย มาร่วมแสดงความเห็นในมิติของศาสนาเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และไม่ก้าวล่วงละเมิดถึงสิ่งที่เคารพบูชาของชาวพุทธ

ป.ล. [คำเตือน] การแสดงความเห็นเชื่อว่าเป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้ดำเนินรายการ และวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ต่อ Clip สาธารณะนี้ขออย่าได้นำอิสลามซึ่งเป็นตัวศาสนามาวิจารณ์ แต่หากท่านใดจะแสดงความเห็นก็ขอให้แสดงความเห็นต่อผู้ดำเนินรายการมุสลิมซึ่งเป็นตัวบุคคลไม่ใช่ตัวศาสนา

 

=== ปุจฉา-วิสัชนา “การกราบไหว้พระพุทธรูป” ===

ตอบปัญหาโดย พระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) วัดบวรนิเวศวิหาร อดีตประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย

  • ปุจฉา : พุทธศาสนิกชน โง่ หรือ ฉลาด ที่ไปกราบไหว้ อิฐปูน ต้นไม้ และการกราบไหว้พระพุทธรูปจะจัดเข้าไปในประเภทบูชารูปเคารพหรือไม่ ? ถ้าไม่…ต่างกันอย่างไร ?
  • วิสัชนา : ความโง่หรือฉลาดของคนนั้น ไม่วัดกันด้วยด้วยการกระทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ต้องมองกันในหลายๆ ด้านด้วย คนเรานั้นอาจฉลาดในเรื่องหนึ่ง แต่กลับโง่อย่างหนักในอีกเรื่องหนึ่งก็ได้

ปัญหาไม่ได้บอกว่า อิฐ ปูน ต้นไม้นั้นเป็นอะไร เป็นซากของสถานที่สำคัญเช่น สังเวชนียสถาน ก็แสดงว่า เขาไม่ได้ไหว้อิฐ ปูน แต่ไหว้เพราะอาศัยอิฐ ปูน นั้น เป็นสื่อให้น้อมรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธองค์ เช่นเดียวกับการไหว้พระพุทธรูป เจดีย์อื่นๆ หากเป็นการไหว้ อิฐ ปูน ธรรมดา นึกไม่ออกว่าใครจะไปไหว้ทำไม ?!?!

ถ้าว่าเป็นกรณีของพุทธปฏิมา ที่สร้างด้วยอิฐ ปูน ในขณะไหว้ใครคิดว่าตนเองไหว้อิฐ ปูน ก็ต้องจัดว่าบรมโง่ทีเดียว !!!

พระพุทธรูป ไม่ว่าจะสร้างขึ้นด้วยอะไรก็ตาม รวมถึงพระเจดีย์ ไม่ว่าจะเป็นธาตุเจดีย์ ธรรมเจดีย์ บริโภคเจดีย์ หรือ อุเทสิกเจดีย์ก็ตาม ล้วนแต่สร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระพุทธเจ้าเวลาไหว้ ใจคนจะน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า โดยอาศัยสิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องกระตุ้นให้ระลึกถึง

o ทำไมจึงต้องสร้างเป็นรูปวัตถุเช่นนั้น ?

ตอบ : เพราะพระพุทธคุณเป็นนามธรรม โดยหลักทั่วไปแล้ว การระลึกถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมล้วนๆ สำหรับคนทั่วไปแล้ว ทำได้ยาก เหมือนระลึกถึงคุณพ่อคุณแม่ หากจะมีรูปท่านอยู่ด้วยจะให้ความรู้สึกแปลก คือให้ความซาบซึ้งมากกว่าที่คิดถึงในเชิงนามธรรมล้วนๆ แต่เมื่อว่าตามความจริงแล้ว คนหาได้คิดอยู่เพียงรูปถ่ายของท่านไม่ รูปถ่ายท่านเป็นเพียงสื่อให้คิดได้ดีขึ้นเท่านั้นเอง

เรื่องการกราบไหว้ พระพุทธรูป เจดีย์ ที่สร้างด้วยอะไรก็ตาม ผู้ไหว้หาได้ติดอยู่เพียงรูปเหล่านั้นไม่ รูปเหล่านั้น จึงทำหน้าที่เป็นสื่อทางจิตใจ เพื่อได้อาศัยรำลึกถึงพระพุทธเจ้า และพระพุทธคุณ ด้วยเหตุนี้ การกราบไหว้พระพุทธรูป จึงไม่เหมือนการกราบไหว้รูปเคารพ อย่างที่พวกนับถือรูปเคารพกระทำกัน

o ทำไมจึงไม่เหมือนกัน?

ตอบ : เพราะพวกสร้างรูปเคารพนั้น ผู้ที่ตนนำมาสร้างเป็นรูป ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง เป็นแต่คิดฝันขึ้น บอกเล่าสืบต่อกันมา ส่วนมากจะเกิดขึ้นจากพวกที่ต้องการประโยชน์ จากความนับถือรูปเคารพเหล่านั้นของคนทั้งหลาย คนนับถือรูปเคารพจึงนับถือ เพราะ “ความไม่รู้ จึงเกิดความกลัว”

การไหว้รูปเคารพ จึงเป็นการกระทำเพื่อ

๑. ประจบเอาใจรูปเคารพเหล่านั้น ไม่ให้ท่านโกรธ

๒. ต้องการอ้อนวอน บวงสรวง ให้ท่านประสิทธิ์ประสาท สิ่งที่ตนต้องการ และพิทักษ์รักษาตน พร้อมบุคคล ที่ตนต้องการให้รักษา

แม้ว่า บุคคลบางคน จะไหว้พระพุทธรูป เพื่อต้องการของสิ่งที่ตนต้องการบ้าง แต่ไม่มีลักษณะของการประจบเอาใจต่อพระพุทธรูป เพื่อไม่ให้ท่านโกรธ อย่างที่พวกนับถือรูปเคารพกระทำกัน พระพุทธรูป จึงไม่เหมือนกับรูปเคารพ อย่างที่คนบางคนเข้าใจ

(ที่มา : ตอบปัญหาทางพระพุทธศาสนา-๒ โดย พระโสภณคณาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) วัดบวรนิเวศวิหาร, พิมพ์เผยแพร่เพื่อเป็นพุทธบูชา และธรรมบรรณาการ, พ.ศ. ๒๕๒๒, หน้า ๒๓๐-๒๓๑)

หมายเหตุ : บทความเรื่องนี้เขียนไว้เมื่อครั้งที่ พระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) ยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระโสภณคณาภรณ์