ศาลสั่ง! ไอเฟคจ่ายค่าจ้าง“พนง.” วอนแรงงาน-กลต.-อดีตศาลรธน.ยุติปัญหา

0
319

ตัวแทนพนักงานไอเฟคบุกก.แรงงาน จี้ไอเฟคปฏิบัติตามคำสั่งศาล กรณีไม่จ่ายเงินเดือน-ประกันสังคม เผยศาลฯพิพากษาจ่ายเงินเดือนพนง. คดีถึงที่สุดแล้ว ด้านนิติกรแรงงานรับปากเร่งเจรจาตัวแทนบริษัทให้แล้วเสร็จในสิ้นเดือนก.ค.นี้  พนง.ไอเฟควอน “มานิต วิทยาเต็ม” อดีตตุลาการศาลรธน. ที่เพิ่งมารับตำแหน่งประธานกรรมการตรวจสอบไอเฟคเมตตาเห็นใจเพื่อนมนุษย์ที่กำลังทุกข์ยากจากโควิด-19 และต้องเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายมานานถึง 2 ปี คาใจส่งคำตัดสินศาลให้ “ก.ล.ต.” ตั้งแต่ปี 62 ยังเพิกเฉย  ทั้งที่ส่งผลเสียหายต่อ “เจ้าหนี้-ผู้ถือหุ้น สั่นคลอนความเชื่อมั่นในตลาดที่ต้องยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลโปร่งใส่ตรวจสอบได้

วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 กระทรวงแรงงาน ตัวแทนพนักงานบริษัทอินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือไอเฟค (IFEC) เดินทางไปร้องขอความช่วยเหลือจากนิติกรชำนาญการ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หลังจากศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาให้ไอเฟคจ่ายเงินเดือนพนักงาน ซึ่งมีการต่อสู้ชั้นอุทธรณ์ถึงที่สุดแล้ว แต่ปรากฏว่าไอเฟคยังไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา

ตัวแทนพนักงานไอเฟค เปิดเผยว่า พวกตนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ต่อสู้คดีมากว่า 2 ปี เพื่อติดตามเรื่องค่าจ้างและเงินเดือนที่บริษัทค้างชำระ บัดนี้คดีได้สิ้นสุดแล้วตามคำสั่งศาลแรงงาน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 และนิติกรได้เลื่อนการรายงานตัวของกรรมการจากวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 เป็นวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ซึ่งการทอดเวลาออกไปเช่นนี้ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้างที่บริสุทธิ์ถูกกลั่นแกล้งเป็นเวลานานถึง 2 ปีแล้ว

สำหรับการตัดสินของศาลสิ้นสุด มีรายละเอียดดังนี้ คดีแรกเป็นคดีแรงงานของศาลแรงงานกลาง หมายเลขคดีดำที่ ร.1843/2564 หมายเลขคดีแดงที่ ร.1080/2564 คดีที่สอง เป็นคดีหมายเลขดำที่                        ร.1040/2564 หมายเลขคดีแดงที่ ร.1231/2564 ซึ่งสิ้นสุดลงแล้ว โดยศาลได้พิพากษาให้บริษัทจ่ายเงินค่าจ้างแก่ลูกจ้าง ประการต่อมาคดีที่สามและสี่ เป็นคดีแรงงานของศาลแรงงานกลางเช่นกัน ซึ่งทั้งคดีที่สามและสี่ นั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้พิพากษายืน โดยมีคำพิพากษาที่ 465/2564 และคำพิพากษาที่ 651/2564 ตามลำดับ ว่าการอุทธรณ์ของบริษัทฯ นั้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงไม่รับวินิจฉัย และคดีที่ห้า เป็นคดีแรงงานของศาลแรงงานกลาง คดีหมายเลขดำที่ ร.5648/2562 คดีหมายเลขแดงที่ ร.3249/2563  เรื่องบริษัทย่อยที่ลูกจ้างถูกกลั่นแกล้ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก็ได้พิพากษายืนเช่นกัน

“ในสถานการณ์เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดเช่นนี้ ยิ่งตอกย้ำความยากลำบากให้กับพวกผมเป็นอย่างมาก บริษัทเพิกเฉยไม่จ่ายเงินเดือน-ค่าจ้าง-เงินกองทุนประกันสังคมส่งผลเสียหายอย่างใหญ่ พวกผมเหมือนผีหัวขาดที่เข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการประกันสังคมที่พึงจะได้ รวมถึงเงินเยียวยาจากรัฐบาลในสถานการณ์โควิด-19ที่ผ่านมา และในอนาคต จึงนำเรื่องมาขอความอนุเคราะห์จากนิติกร กระทรวงแรงงาน ซึ่งท่านก็เมตตา รับปากว่าจะเร่งเจรจากับตัวแทนบริษัทให้ยุติปัญหาที่เกิดขึ้นภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ หากยังประวิงเวลาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ก็จะดำเนินการกล่าวโทษร้องทุกข์เจ้าพนักงานต่อไป” ตัวแทนพนักงานกล่าว

ตัวแทนพนักงานระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาพวกตนได้ส่งหนังสือแนบคำตัดสินของศาลยื่นต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตั้งแต่ปี 2562  แต่ก็ไม่ได้การตอบรับจากก.ล.ต. ซึ่งปัจจุบันบริษัทกลายเป็นบริษัทร้าง สร้างความเสียหายกับเจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้นที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ทั้งนี้ไอเฟคเป็นบริษัทมหาชนในตลาดฯ ต้องยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล โปร่งใสตรวจสอบได้ เหตุใดก.ล.ต. ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลโดยตรงจึงละเลยต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งจะทำให้นักลงทุนในตลาดขาดความเชื่อมั่นหรือไม่

“ผมทราบข่าวว่าบริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการล่าสุดเมื่อปี 2564 มีคุณมานิต วิทยาเต็ม กรรมการอิสระ และประธานกรรมการตรวจสอบ (อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) พวกผมในฐานะพนักงานที่ถูกไอเฟคเพิกเฉยไม่จ่ายเงินเดือนค่าจ้างหวังว่าจะได้รับความเมตตาปราณีจากท่านในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบเร่งรัดให้บริษัทปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล โดยเร็ววัน จักเป็นพระคุณอย่างยิ่งที่ได้อนุเคราะห์เพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ยากลำบากตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มพนักงาน และครอบครัวหลายชีวิตได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส จึงขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้ด้วย”  ตัวแทนพนักงานไอเฟคกล่าว