ศมส. ชูกลุ่มชาติพันธุ์ไท ฉลอง 70 ปี ความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย “พล.อ.ธนะศักดิ์” เชิญชวนคนไทยหันมาเรียนรู้ เข้าใจพี่น้องร่วมวัฒนธรรมเดียวกัน

0
1990

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมชั้น 5 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ถ.บรมราชชนนี กรุงเทพฯ พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาวิชาการ “วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทย ในประเทศอินเดีย” โดยมี นายภควันต สิงห พิศโนอี (H.E. Mr. Bhagwant Singh Bishnoi) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับ  และนายพีรพน พิสณุพงศ์ ผอ.ศมส. กล่าวรายงาน

ทั้งนี้ พล.อ. ธนะศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องในปี พ.ศ. 2560 ราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐอินเดีย มีความสัมพันธ์ทางการทูตมาครบ 70 ปี หากย้อนดูอดีตที่ยาวนาน ผู้คนในดินแดนสุวรรณภูมิมีการติดต่อทางวัฒนธรรมกับคนในอินเดียและชมพูทวีปมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนในดินแดนทั้งสองมีแบบแผนทางวัฒนธรรมและอารยธรรมที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ไท ที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ได้แก่ กลุ่มไทยอาหม ไทพ่าเก ไทอ้าย และไทยคำตี่ กลุ่มคนเหล่านี้มีภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่ใกล้เคียงและคล้ายคลึงกับกลุ่ม “คนไท” ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก จนถือได้ว่าเป็นพี่น้องร่วมวัฒนธรรมเดียวกัน

พล.อ. ธนะศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันการศึกษาความเชื่อมโยงและสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ไทในดินแดนต่างๆ ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้เกิดการทบทวนตรวจสอบองค์ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของชาชาติไท รวมทั้งตระหนักถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ที่ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และการดำเนินชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไททั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ ศมส. หน่วยงานทางวิชาการภายในกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จึงร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย จัดสัมมนาวิชาการเพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการไทยและอินเดียนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ๆ ต่อสาธารณชน นอกจากนั้น เวทีนี้ยังได้จัดการแสดงทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทในอินเดียและประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้คนไทยหันมาเรียนรู้และทำความเข้าใจวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มต่างๆ อย่างใกล้ชิดและถูกต้อง อันจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การต่อยอด และมีส่วนร่วมอนุรักษ์ สนับสนุน และเชิดชูคุณค่าทางวัฒนธรรมอันดีงามของไทยและอินเดียต่อไปในอนาคต

นายพีรพน กล่าวว่า ศมส. มีแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – 2565 ที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยดำเนินการวิจัยและพัฒนาฐานข้อมูลทางด้านชาติพันธุ์ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการไทยและนานาชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่างๆ ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ อย่างไรก็ตาม การสัมมนาครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศที่มีเป้าหมายในการส่งเสริม ฟื้นฟู พัฒนา และสืบทอดวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งกลุ่มคนท้องถิ่นที่ควรได้รับสิทธิและโอกาสเช่นเดียวกันกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบนเวทีเสวนา เรื่อง “อาหาร วัฒนธรรม และภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทในอินเดีย” ที่ได้มีการกล่าวถึงการไปศึกษาดูงานกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชุมชนชาติพันธุ์ไทที่มีอยู่ 6 กลุ่มในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งเป็นอาณาบริเวณทางวัฒนธรรมต่อเนื่องจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามคำเชิญของกลุ่มชาติพันธุ์ไทในรัฐอัสสัม ทำให้ได้พบกับความหลากหลายทางภาษาพูด ภาษาเขียน และวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับคนไทยมากที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย  เนื่องมากจากภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ปลายเทือกเขาหิมาลัยตะวันออก มีที่ราบลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร ที่ราบลุ่มแม่น้ำบารักและสาขา พบพืชพรรณและผืนดินเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานมาแต่เดิม ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวมีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากอาศัยอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่อพยพเข้ามาสู่ดินแดนดังกล่าวนับตั้งแต่ช่วงพุทธศักราช 1760 มีความสำคัญอย่างมากต่อการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชนชาติพันธุ์ไทในบริบทที่กว้างขวางมากขึ้น