ศพช.ลำปาง รุกพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล

0
424

วันที่ 24  ธันวาคม  2563  นางอภิญญา  โกมลรัตน์   ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาลำปาง  เปิดเผยว่า  ตามที่กรมการพัฒนาชุมชน  กระทรวงมหาดไทย  ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นนโยบายสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก  ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล

ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง  ได้ดำเนินการขับเคลื่อนให้ ศพช.ลำปาง  เป็นพื้นที่ตัวอย่างหรือพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล  โดยการสนับสนุนให้บุคลากรเข้ารับการฝึกอบรม ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง และศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ  การรวบรวมองค์ความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักทฤษฎีใหม่ และการสนับสนุนจากภาคีเครือข่าย  ได้แก่  มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือสจล. เครือข่ายชีววิถี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแม่เมาะ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้

ทั้งนี้ บุคลากรของ ศพช.ลำปาง ได้นำความรู้และคำแนะนำมาลงมือปฏิบัติในพื้นที่จนประสบผลสำเร็จ สามารถเป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง น โมเดลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงเฉพาะการเป็นพื้นที่ต้นแบบแหล่งสร้างความมั่นคงทางอาหารเท่านั้น   แต่ยังมีการจัดฐานการเรียนรู้เพื่อการพึ่งพาตนเอง ที่มีความพร้อมในการให้บริการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การปฏิบัติได้อย่างมีคุณภาพ

“เมื่อ ศพช.ลำปาง ได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล จนประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้ว จึงได้รับมอบหมายจากกรมการพัฒนาชุมชน ให้เป็นหน่วยดำเนินการฝึกอบรมผู้สมัครเข้าร่วมโครงการการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน  997 ราย ประกอบด้วยข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน ในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ในพื้นที่ต้นแบบ  17 จังหวัดภาคเหนือ และครัวเรือนต้นแบบ  จำนวน 125 ราย  รวมทั้งผู้จ้างงานตามโครงการฯ ในพื้นที่จังหวัดลำปาง ลำพูน และแพร่  จำนวน 872 ราย  ซึ่ง ศพช.ลำปาง มีความเชื่อมั่น และมั่นใจว่าผู้ผ่านการฝึกอบรมฯ ทุกคน จะได้รับประโยชน์ และความรู้ สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัว  ชุมชนให้มีความมั่นคงเข้มแข็ง  และยั่งยืนได้อย่างแน่นอน”  นางอภิญญา  กล่าวทิ้งท้ายด้วยความมั่นใจ