ศน.จัดเสวนา “การศึกษาและเผยแผ่ศาสนาในสังคมยุคดิจิทัล” สร้างการเรียนรู้ระหว่างกัน สมานฉันท์ นำสังคมสู่สันติสุข

0
2395

วันนี้ (๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑) เวลา ๑๓.3๐ น. กรมการศาสนา(ศน.) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกับองค์การทางศาสนา จัดประชุมเสวนา ๕ ศาสนา เรื่อง “การศึกษาและเผยแผ่ศาสนาในสังคมยุคดิจิทัล” ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  โดยมีนายมานัส ทารัตน์ใจ อธิบดีกรมการศาสนา เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยผู้นำศาสนา ผู้นำองค์กร และศาสนิกชนทั้ง ๕ ศาสนา คือ ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม  ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาซิกข์ และเจ้าหน้าที่กรมการศาสนา

ทั้งนี้เวทีเสวนาประกอบด้วยผู้แทนของแต่ละศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ โดยพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.ดร. ศาสนาอิสลาม โดยนายประสาน ศรีเจริญ ศาสนาคริสต์ โดยมุขนายก ยอเซฟ ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยนายสถิต กุมาร ปาวา ศาสนาซิกข์ โดยนายธารินทร์ จำปี ดำเนินรายการโดยนายพิสิฐ เจริญสุข

นายมานัส กล่าวว่า วธ.โดยกรมการศาสนา ร่วมกับองค์การทางศาสนา ได้ร่วมใจกันจัดประชุมเสวนา ๕ ศาสนา เรื่อง “การศึกษาและเผยแผ่ศาสนาในสังคมยุคดิจิทัล” ขึ้น เนื่องจากสังคมในปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสังคมดิจิทัล หรือยุคเศรษฐกิจใหม่ เป็นชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมที่ได้สัมผัสกับการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กับการใช้ระบบสื่อสารข้อมูลคอมพิวเตอร์ และระบบสารสนเทศ ซึ่งเข้ามาอำนวยความสะดวกมากขึ้น แต่หากผู้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศไม่ได้พัฒนาความรู้ ความคิดเชิงวิเคราะห์ อาจส่งผลกระทบต่อสังคมในอนาคต รวมถึงความรู้เกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนทางศาสนาของตนเองที่สามารถค้นหาได้จากระบบเครือข่ายสังคม เมื่อได้รับข้อมูลที่ถูกบิดเบือนไปจากหลักคำสอนที่แท้จริง ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและปฏิบัติตามความเชื่อที่ผิด และนำไปเผยแพร่ขยายต่อไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งอาจจะสร้างความบาดหมางกันระหว่างศาสนิกชนที่นับถือศาสนาต่างกัน อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศชาติ  ดังนั้น การสร้างความเข้าใจให้ถูกต้องตามหลักคำสอนทางศาสนาและการรู้ข้อเท็จจริง จะเป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

อธิบดีศน. กล่าวต่อว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้ เข้าใจหลักการของศาสนามากยิ่งขึ้น ได้รับรู้ข่าวสารด้านศาสนาและผลกระทบด้านศาสนาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันที่เป็นจริงและถูกต้องซึ่งทำให้มีความเข้าใจกันมากขึ้น เกิดความรักความปรารถนาดีต่อกัน ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันแม้จะต่างเชื้อชาติต่างศาสนา ทำให้เกิดความสามัคคี และความสมานฉันท์ของประชาชนอันจะก่อให้เกิดความสันติสุขในครอบครัว สังคมและประเทศชาติ ซึ่งศน. ส่งเสริมให้ศาสนิกชนร่วมเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและดำรงตนตามวิถีวัฒนธรรมไทย มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างศาสนิกชน บนพื้นฐานของความหลากหลายทางศาสนา ให้ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ก่อให้เกิดชุมชนคุณธรรมอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น และเป็นสังคมแห่งคุณธรรมสืบไป

“การจัดประชุมสัมมนาระหว่างศาสนาในวันนี้ กรมการศาสนาจัดขึ้นตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความเข้าใจทั้งด้านการศึกษาและการเผยแผ่คำสอนในยุคดิจิทัลหรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก ในยุคปัจจุบันเราจะเห็นว่าการเผยแผ่คำสอนทางศาสนาบางครั้งจะเป็นการเผยแผ่ที่ไม่ถูกต้อง บิดเบือนคำสอนหลักการของศาสนาต่างๆ เมื่อจะทำให้เกิดความรู้อย่างถูกต้องก็ต้องอาศัยองค์การทางศาสนาต่างๆ มาช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนว่าหลักของศาสนาที่แท้จริงคืออะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาในทุกศาสนาเรามีเรื่องของศาสดา เรื่องหลักธรรมคำสอน ศาสนาวัตถุ ศาสนธรรม และศาสนบุคคล ถ้ามีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดปัญหากับสังคมทางด้านความคิด” อธิบดีศน.กล่าว และว่า

ผลจากการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้แล้ว จะนำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของศาสนิกของแต่ละศาสนา มีความเข้าใจถึงความแตกต่างที่หลากหลายทั้งด้านความเชื่อและคำสอนรวมทั้งศาสนวัตถุที่มีความงามของแต่ละศาสนา จึงเป็นวัตถุประสงค์หลักในการจัดเสวนาวันนี้ และคงไม่ใช่เป็นครั้งแรก ศน.ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นทุกปี เพราะเรื่องเหล่านี้จะต้องมีการมาพูดคุยกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง ไม่มีหน่วยงานใดที่จะเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาหรือที่เราเรียกว่าศาสนิกสัมพันธ์ ซึ่งศน.เป็นหน่วยงานที่เป็นสื่อกลางในการเชื่อมระหว่างศาสนิกชนทุกศาสนา และในเดือนเมษายนปีนี้ วธ.จะมีการจัดงานฉลอง ๒๓๖ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งจะมีการจัดงานรวมพลังทางศาสนา หรืองานศาสนามหามงคลโดยมีผู้แทนของทุกศาสนามาร่วมประกอบพิธี เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบุรพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า อันจะเป็นการสร้างความเข้าใจกันดีระหว่างศาสนา