ศน.คัดเส้นทางจาริกแสวงบุญศาสนสถานสำคัญ ๙ แห่ง ๙ จังหวัด สัมผัสมรดกทางวัฒนธรรม สักการะ ๑๐๘ องค์พระปฏิมา สร้างเศรษฐกิจชุมชน

0
1219

 

นายมานัส ทารัตน์ใจ อธิบดีกรมการศาสนา เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ พัฒนาสมรรถนะบุคลากรให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทย นำทุนทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากวิถีชีวิตชุมชน มาส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวให้มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย โดยมุ่งส่งเสริมกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนและการท่องเที่ยววิถีไทย ภายใต้ “พลังท้องถิ่นขับเคลื่อนประชารัฐ” เพื่อสร้างรากฐานเศรษฐกิจในระดับชุมชน เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้ประเทศเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ประกอบกับกระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายสร้างรายได้ ความมั่งคั่งจากทุนและทรัพยากรทางวัฒนธรรม รวมทั้งใช้วัฒนธรรมเสริมสร้างภาพลักษณ์แก่ประเทศ

 

อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวต่อว่า กรมการศาสนา (ศน.) รับนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยววิถีไทยในมิติทางศาสนา ภายใต้พลังประชารัฐ โดยร่วมกับคณะสงฆ์ องค์การศาสนา และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเปิด “เส้นทางจาริกแสวงบุญศาสนสถานสำคัญ ๙ แห่ง” เชื่อมโยงสัมผัสมรดกทางวัฒนธรรม ตามรอยสักการะ ๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระบรมธาตุ พุทธรัตนมณี มรดกของแผ่นดิน และสักการะเยี่ยมชมศาสนสถานของศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาซิกข์ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม วิจิตรงดงาม ทรงคุณค่าทางจิตใจ และมีประวัติศาสตร์อันยาวนานภายในจังหวัด โดยได้คัดเลือกจังหวัดนำร่อง ๙ จังหวัด ที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม มีวัด ศาสนสถาน ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว มีศักยภาพพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย นครปฐม พระนครศรีอยุธยา นครพนม หนองคาย เพชรบุรี นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี โดยบูรณการการทำงานร่วมกับสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น สมาคมโรงแรม สมาคมมัคคุเทศก์ กำหนดเปิดเส้นทางจาริกแสวงบุญที่ศาสนสถานสำคัญ ๙ แห่ง จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรมรณรงค์เปิดเส้นทางจาริกแสวงบุญ เชิญชวนสื่อมวลชน ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ได้เยี่ยมเยือนศาสนสถานสำคัญ ๙ แห่งบนเส้นทางแสวงบุญ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักท่องเที่ยวให้ได้มาสัมผัสมรดกทางวัฒนธรรม ศาสนสถานสำคัญอันวิจิตรงดงามและทรงคุณค่าทางจิตใจและมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน บนเส้นทางบุญ ทั้ง ๙ จังหวัด ประกอบด้วยวัด ศาสนสถาน ดังนี้

๑. เชียงใหม่ : วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วัดสวนดอกพระอารามหลวง (วัดบุปผาราม) วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร วัดเชียงหมั้น (วัดเชียงมั่น) วัดพระศรีจอมทอง วัดพระธาตุดอยสะเก็ด

 

๒. เชียงราย : วัดพระแก้ว วัดดอยงำเมือง วัดพระธาตุดอยจอมทอง วัดพระสิงห์ วัดพระธาตุ วัดพระธาตุผาเงา วัดเจดีย์หลวง วัดพระธาตุจอมกิตติ และวัดพระธาตุดอยตุง

๓. นครปฐม : วัดพระปฐมเจดีย์ คริสตจักรจีนนครปฐม วัดไผ่ล้อม วัดศีรษะทอง วัดไร่ขิง วัดธรรม-ปัญญารามบางม่วง วัดกลางบางพระ วัดลำพญา และวัดอรัญญิการาม

๔. พระนครศรีอยุธยา : วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร วัดพระศรีสรรเพชญ์ วิหารพระมงคลบพิตร วัดหน้าพระเมรุราชิการาม หรือวัดพระเมรุ หรือวัดหน้าพระเมรุ วัดภูเขาทอง วัดไชยวัฒนาราม วัดพุทไธศวรรย์ วัดพนัญเชิงวรวิหาร และวัดใหญ่ชัยมงคล

๕. เพชรบุรี : วัดเขาย้อย วัดพระพุทธไสยาสน์ วัดข่อย วัดมหาธาตุ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร      วัดกำแพงแลง วัดเพชรพลี วัดเกาะ และวัดบันไดอิฐ

๖. นครพนม : วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร วัดธาตุเรณู วัดธาตุศรีคุณ วัดธาตุมหาชัย วัดมรุกขนคร วัดมหาธาตุ วัดพระธาตุท่าอุเทน วัดไตรภูมิ และวัดธาตุประสิทธิ์

๗. หนองคาย: วัดโพธิ์ชัย พระธาตุหล้าหนอง (พระธาตุกลางน้ำ) และพระธาตุหล้าหนอง องค์จำลอง วัดมณีโคตร วัดมฤคทายวัน (วัดดงแขม) วัดพระธาตุบังพวน วัดพระธาตุบุ วัดเทพพลประดิษฐาราม วัดศรีชมพูองค์ตื้อ และวัดหินหมากเป้ง

๘. สุราษฎร์ธานี : อาสนวิหารอัครเทวดาราฟาเอล วัดพัฒนาราม พระอารามหลวง วัดไทรบ้านดอน วัดธรรมบูชา พระอารามหลวง วัดไตรธรรมาราม พระอารามหลวง วัดธารน้ำไหล (สวนโมขพลาราม) วัดพระบรมธาตุไชยา มัสยิดยุ้มอีตุลอิสลาม ชุมชนพุมเรียงไชยา และวัดสมุหนิมิต พุมเรียง

๙. นครศรีธรรมราช : วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ศาลพระเสื้อเมือง หอพระพุทธสิหิงค์

หอพระอิศวร/หอพระนารายณ์ ศาลหลักเมือง คริสตจักรเบธเลเฮ็ม วัดแจ้งวรวิหาร วัดประดู่พัฒนาราม และมัสยิดญาเมียะ

“กรมการศาสนาจึงขอเชิญชวนศาสนิกชนได้เรียนรู้หลักธรรมทางศาสนา สัมผัสอิ่มเอมกับมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าตลอดเส้นทางบุญใน ๙ จังหวัดนำร่อง ร่วมส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยววิถีไทยในมิติทางศาสนา เสริมสร้างรายได้เศรษฐกิจชุมชน เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากนำชาติมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อธิบดี ศน. กล่าว