วิสาขบูชาปี 61 สมเด็จพระสังฆราช ยกธรรมะข้อ “ อาชชวะ” ตามรอยพระยุคลบาท ร.9 ซื่อตรง ซื่อสัตย์ สุจริต ด้านการประชุมผู้นำพุทธ 85 ประเทศประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ

0
1817

 

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่มณฑลพิธีบริเวณลานหน้าองค์พระประธานพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) เสด็จเป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 งานสัปดาห์ส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2561 โดยมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส มีประมุขสงฆ์และผู้นำชาวพุทธนานาชาติ 85 ประเทศและคณะ พร้อมด้วยข้าราชการ เจ้าหน้าที่ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปจำนวนมากร่วมในพิธี

เมื่อเจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว สมเด็จพระสังฆราช ประทานสัมโมทนียกถา มีความว่า  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทานธรรมะ 10 ประการ สำหรับพระราชา และผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมืองไว้ ปรากฏเนื้อความอยู่ในชาดก เรื่อง “มหาหังสชาดก” ธรรมะหมวดนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เรียกว่า “ทศพิธราชธรรม” เราทั้งหลายได้มาประชุมพร้อมเพรียงกัน เพื่อถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 จึงสมควรจะได้ไคร่ครวญธรรมะบางประการ ในหมวดทศพิธราชธรรม ซึ่งพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกๆ พระองค์ ทรงยึดถือเป็นหลักในการทรงงาน เพื่อยังความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่อาณาประชาชนทั่วหน้า

โอกาสนี้ อาตมาภาพใคร่ขอหยิบยกธรรมะข้อ “อาชชวะ” มาปรารภกับท่านทั้งหลาย อาชชวะ แปลว่า ความซื่อตรง ความซื่อสัตย์ ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน ธรรมะประการนี้เป็นคุณธรรมที่มนุษย์ทุกคนพึงยึดถือปฏิบัติ ไม่จำกัดว่าเป็นผู้ปกครองหรือผู้อยู่ในปกครองเพราะความเป็นผู้ซื่อตรง ตรงในทางที่ดี สุจริตต่อหน้าที่การงานของตน ต่อมิตรสหาย ต่อองค์กรหรือหลักการของตน ย่อมสามารถนำพาสังคมให้เจริญก้าวหน้าอย่างผาสุกสงบ ลองจินตนาการดูว่า ถ้าบ้านเมืองของเรามีแต่คนซื่อสัตย์สุจริต จริงใจต่อกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง และปฏิบัติตามหน้าที่ของตนๆ กันทุกคน การทำมาค้าขาย ประกอบธุรกิจใดๆ ก็ไม่คดโกงกัน  แผ่นดินไทยย่อมเป็นแผ่นดินทอง เป็นสยามเมืองยิ้มเป็นราชอาณาจักรที่รุ่งเรืองงดงามได้อย่างแท้จริง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 9 ทรงซื่อตรงต่อการบำเพ็ญพระราชกรณีกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทรงบำเพ็ญพระราชธรรมข้อ “อาชชวะ” ได้อย่างสมบูรณ์ อาตมาจึงขอเตือนให้ชาวไทยทั้งหลาย จงมีใจภักดีซื่อตรงต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทำหน้าที่ของตนๆ อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ให้สมกับเป็นผู้มีธรรมข้อ “อาชชวะ” ตามรอยพระยุคลบาทกันทุกคน

พ.ต.ท. พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลกประจำปีนี้ รัฐบาล และมหาเถรสมาคม(มส.) ได้เห็นชอบให้พศ. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดกิจกรรมร่วมกับคณะสงฆ์ มหาวิทยาลัยสงฆ์ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคและวัดไทยในต่างประเทศ โดยส่วนกลางได้จัดกิจกรรม ณ พุทธมณฑล มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และสหประชาชาติประจำประเทศไทย ในส่วนภูมิภาค จัดกิจกรรม ณ วัดที่เป็นศูนย์กลางของจังหวัดและวัดทุกวัด กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 24-30 พ.ค. 2561 กิจกรรมประกอบด้วย การปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์และฆราวาส ขบวนธรรมยาตรา นิทรรศการทางพระพุทธศาสนา การสนทนาธรรม  การบรรยายธรรม พิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา การเทศน์ 4 ภาค ของสามเณรกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา การประดับโคมแขวนเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา พิธีทำบุญตักบาตร และพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเวียนเทียน สำหรับพิธีเจริญพระพุทธมนต์ในวันนี้ พศ.ได้นิมนต์พระสงฆ์ในเขตปกครองสงฆ์หนกลางเข้าร่วมพิธี อีกทั้งคณะประมุขสงฆ์นานาชาติ ผู้นำชาวพุทธนานาชาติ และพุทธศาสนิกชนนานาชาติ ซึ่งได้เดินทางมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย

ด้านการประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา ที่ศูนย์ประชุมสหประชาติ กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อ “พระพุทธศาสนากับการพัฒนามนุษย์” โดยในช่วงเช้าหลังจากพระสงฆ์ประเทศต่างๆ ทั้งนิกายเถรวาท มหายาน และวัชรยาน หมุนเวียนขึ้นสวดมนต์จบแล้ว นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ในฐานะผู้แทน พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นอ่านสาส์นถึงชาวพุทธทั่วโลก ว่า วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยหัวใจของหลักธรรมคำสอนที่เป็นแนวทางสายกลาง ไม่ตึงหย่อนจนเกินไป มุ่งเน้นให้มนุษย์ใช้สติ ปัญญา และคุณธรรมจริยธรรมในการดำเนินชีวิต และไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นับว่าเป็นแนวทางสันติวิธีที่ส่งเสริมให้โลกเรามีสันติภาพอย่างแท้จริง

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธัมฺมจิตโต) กรรมการมส. อธิการบดี มจร. แถลงถึงการประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ ตามที่ชาวพุทธนานาชาติมีข้อตกลงร่วมกัน ดังนี้  1.เพื่อยืนยันว่า มุมมองของในโลกของพระพุทธศาสนามีความสอดคล้องกับพันธกิจที่จะทำงานอย่างอุตสาหะ เพื่อที่จะให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติในปี ค.ศ. 2023 (2573) เราได้อุทิศร่วมกันเพื่อให้บรรลุข้อตกลงดังกล่าว  2.เพื่อที่จะแสดงการขอบคุณต่อการจัดงานวันวิสาขบูชานานาชาติฯ ครั้งที่ 14 ที่ประสบความความสำเร็จ ณ เมืองโคลัมโบ และแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ในปี ค.ศ. 2017 (2560) 3.เพื่อชื่นชมการตีพิมพ์พระไตรปิฎกสากล ฉบับภาษาอังกฤษ พิมพ์ครั้งที่ 2 และฉบับแปลภาษาไทย พิมพ์ครั้งที่ 1 ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 4.เพื่อแสดงยินดีต่อข้อตกลงที่เป็นทางการที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในนามแปลพระไตรปิฎกฉบับสากลฯ ให้เป็นภาษาจีน ฮังการี อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น โปรตุเกส สเปน และเวียดนาม ที่ได้รับมอบหมายในระหว่างการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชานานาชาติ

5.เพื่อที่จะได้ทราบถึงความก้าวหน้าในการเผยแพร่บัญชีรายชื่อของพระไตรปิฎกที่จะใช้แทนพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีออนไลน์ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยเพิ่มวัตถุประสงค์ของพระไตรปิฎกฉบับอื่นๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น 6.เพื่อที่จะแสดงความชื่นชมอย่างยิ่งต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ แห่งประเทศไทย ซึ่งมีพื้นฐานมาจากมรรค 8 มีองค์ประกอบด้วย 8 ส่วนคือ พอเพียง มีเหตุมีผล ภูมิคุ้มกัน  7.เพื่อที่จะแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้ง ต่อแนวคิดของความสุขประชาชาติมวลรวม ที่ทราบกันเป็นอย่างดี ของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน โดยวัดจากความเป็นอยู่ที่ดีทางด้านจิตใจ ความผาสุกของชุมชน ความหลากหลายทางนิเวศวิทยาและวัฒนธรรม ภูมิคุ้มกัน สุขภาพ การศึกษา หลักธรรมภิบาล และคุณภาพชีวิตที่ดี  และ8. เพื่อส่งเสริมการพัฒนามนุษย์บนพื้นฐานของข้อมูลเชิงลึก และนำเสนอโดยผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกในการกระตุ้นให้ผู้นำทางศาสนาและชุมชนให้มีพันธสัญญาต่อกัน  สร้างข้อตกลงในการใช้ทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบ ใช้หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา เช่น การเป็นอยู่อย่างมีคุณธรรม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความใส่ใจในสรรพสัตว์และชาวโลก มีศรัทธาเชื่อมั่นในคุณความดีของเพื่อนมนุษย์และปัญญาในการแก้ไขสิ่งท้าทายที่เผชิญกับพวกเยาวชน และการรักษาอัตลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมในโลกที่เชื่อมโยงถึงกัน การเข้าใจและก่อให้เกิดความรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานคุณค่าสากล