วิถี เกิด แก่ เจ็บ ตาย หลากหลายอารมณ์ชีวิตที่ “วัด”

0
2223

วิถี เกิด แก่ เจ็บ ตาย หลากหลายอารมณ์ชีวิตที่ “วัด”

               

เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน จุดไฟในใจคนฉบับนี้ อาตมาจะขอพูดถึงเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งสถานการณ์รอบตัวในตอนนี้ดูจะเห็นสองอย่างหลังใกล้ตัวเรามากขึ้น เพราะเป็นข่าว หรือต้องเห็นกันอยู่ทุกวัน เป็นที่น่าใจหาย แต่อย่างไรก็ตามนั่นคือสัจธรรมชีวิต

สถาบันทางสังคมไทยของเรามาแต่โบราณคือ “วัด” วัดสำหรับคนไทยไม่ใช่แค่ศาสนสถานหรือที่ให้พระอยู่ แต่เป็นสิ่งสำคัญในวิถีชีวิตที่ผูกพันกับวิถีไทยตั้งแต่เกิดจนตาย เรียกได้ว่า สัจธรรมชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนเกิดขึ้นเกี่ยวพันกับวัดทั้งสิ้น หากยังสงสัยอยู่ก็ขอให้คิดตามอาตมา

เรื่องเกิด น้อยคนนักที่จะคลอดลูกในวัด อันนี้เป็นของแน่นอน แต่อาตมาเชื่อว่ามีหลายคนที่ไปขอลูกกับหลวงพ่อสักวัดหนึ่ง เพราะอาตมาทราบว่ามีวัดหลายแห่งที่เป็นที่ร่ำลือว่าขอลูกได้ดี ตรงนี้ก็เป็นความเชื่อศรัทธาส่วนบุคคล แต่เมื่อลูกเกิดมาแล้ว ตามธรรมเนียมไทยก็จะจัดให้มีพิธีโกนผมไฟ ซึ่งบุคคลที่จะโกนผมไฟให้นั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นพระสงฆ์นั่นเอง นับว่าคนเราก็เกิดมาก็ผูกพันกับวัดแต่ชั้นแรก

คนเราเติบโตมาก็เริ่มแก่เลย มีความเปลี่ยนแปลงของสังขารร่างกายไปตามอายุ จากวัยเด็ก พ่อแม่ก็มักพาไปวัด ไปวัดขณะยังเล็ก ๆ อยู่ ฟังสวดรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เด็ก ๆ บอกว่าแม่ครับพระเขาร้องเพลงอะไรกันหรอ พ่อแม่ให้ธุจ้าก็ธุจ้ากันไป แต่การไปวัดนี้ก็เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมให้คุ้นเคยกับวัด ให้ใกล้ชิดธรรมแต่ยังเด็ก มีทัศนคติที่ดีต่อการไปวัด เพื่อว่าเมื่อโตขึ้นจะได้มีศาสนาเป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจ ขัดเกลาอุปนิสัยให้ดีงามได้ ไม่เคอะเขินเวลาเข้าวัดเข้าวา บางคนพ่อแม่ก็ให้บวชเป็นสามเณร จะบวชหน้าไฟวันเดียว หรือบวชเณรภาคฤดูร้อน สั้นยาวต่างกันไป แต่ ณ เวลาเหล่านั้นคือเวลาที่ผ้าเหลืองจะช่วยขัดเกลาเยาวชนหน่อเนื้อเชื้อสมณะให้มีความดีงามเกิดขึ้นได้

คนเราเติบโตขึ้นมาพบกับสิ่งต่าง ๆ มากมายทั้งดีและร้าย ที่พึ่งทางใจก็คือวัด ไปทำบุญสะเดาะเคราะห์บ้าง ไปปล่อยนกปล่อยปลาก็ที่วัด ไหว้หลวงพ่อ แก้เคราะห์แก้โศกกันไป ไปจนถึงบนบานศาลกล่าว ขอโชคขอลาภ บางคนมีความทุกข์ใจไม่รู้จะทำอย่างไร เดินเข้ามาในวัดรู้สึกสงบดี สบายใจ เดินกลับออกไปก็มี ทั้งที่ไม่ได้เจ้าไปไหว้พระอะไรเลย แค่สัมผัสร่มเงาธรรมในวัดก็เกิดความสงบได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นที่วัด

ชีวิตคนเราที่เกิดมาเป็นมนุษย์ คือโอกาสที่จะได้สร้างกุศล เก็บเกี่ยวผลบุญเป็นเสบียงในการเดินทางสู่สุคติภูมิเบื้องหน้าอันมีการนิพพานเป็นที่สุดในวันใดวันหนึ่ง และนาบุญอันประเสริฐนั้นอยู่ที่วัด เวลาทำบุญเราก็ไปวัด หรือชายไทยถึงกำหนดครบอายุบวช ก็บวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา มีผ้ากาสาวพัสตร์เป็นธงชัย ให้พ่อแม่ได้เห็นธงชัยนี้เป็นบุญยิ่งแล้ว บวชเรียนเพียรปฏิบัติให้สมแก่หน่อเนื้อพุทธบุตร หากอยู่ในเพศฆราวาส วัดก็เป็นสถานที่สัปปายะสำหรับการปฏิบัติกรรมฐาน เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรม เป็นบุญบารมีที่เกิดขึ้นในวัด วัดจึงเป็นนาบุญอันประเสริฐ

เรื่องบางเรื่องไม่ได้เกี่ยวกับการบุญใด ๆ แต่ก็มาเกี่ยวข้องกับวัด เช่น เป็นจุดนัดพบ ที่ประชุมชน มีมหรสพ งานวัด งานกีฬา ฉายหนัง อย่างที่เพลง “งานวัด” เพลงดังในอดีตเคยบรรยายไว้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าวัดคือส่วนสำคัญยิ่งของสังคมไทยอย่างแท้จริง

พอคนเราเริ่มเจ็บป่วย วัดก็ยังคงเป็นที่พึ่งทั้งทางกายและทางใจ ในแง่ทางใจนั้นคนก็มักจะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดให้ผู้ป่วยหายป่วยกลับเป็นปกติ ส่วนทางกายนั้น หลาย ๆ วัดก็เป็นที่พึ่งทางกายแก่ผู้ป่วยด้วย อย่างที่วัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐม ก็เปิดพื้นที่วัดให้เป็นส่วนขยายของโรงพยาบาลนครปฐม สำหรับเวชกรรมเบื้องต้น เช่น การเจาะเลือด วัดความดัน เพื่อลดความหนาแน่นของโรงพยาบาลนครปฐม หรือการเปิดคลินิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์เทพทองโอสถ ก็เพื่อเป็นที่พึ่งแก่ผู้ป่วยเช่นกัน

มาจนถึงบทสุดท้ายของชีวิต เมื่อคนเราจากไป ในชีวิตคนเราย่อมมีโอกาสได้ไปงานศพหลายครั้งหลายหน การไปงานศพไม่ใช่แค่การไปนั่งพนมมือรอกินข้าวต้มรอบค่ำ แต่คือโอกาสที่เราจะปลงธรรมสังเวช ไปเจริญมรณานุสติว่าคนเราเกิดมาแล้วก็ตาย เป็นบุญจากการภาวนาประการหนึ่ง

คนเราวางวายลงแล้ว ร่างเขาก็เอาไปไว้วัด เป็นปลายทางสุดท้าย ให้เป็นดั่งครูมรณานุสติแก่คนทั้งหลาย พอถึงเวลาก็ฌาปนกิจ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะทำที่วัด อัฐิก็อยู่ที่วัด พอวันสงกรานต์ หรือวันสำคัญของผู้วายชนม์ บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังก็มาทำบุญที่วัด เป็นวงจรบุญที่ผูกพันกับวัดเรื่อยไป

ในภาวะโรคระบาดที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนี้ วัดก็ทำหน้าที่เป็นปลายทางสุดท้ายของผู้วายชนม์เหล่านี้ วัดไผ่ล้อมเผาร่างผู้เสียชีวิตไปแล้วราว 150 ร่าง ต่อเนื่องมาโดยตลอดนับแต่การระบาดของโรค จนปัจจุบันเตาเมรุของวัดซึ่งมีอายุการใช้งานมาระยะหนึ่งเริ่มจะรับไม่ไหว อาตมาจึงได้ติดตั้งเตาเผาศพเพิ่มอีกเตาหนึ่งเพื่อแบ่งเบาภาระการทำงานของเตาเผาที่มีอยู่ โดยปัจจัยของผู้ศรัทธาสมทบทุนกองทุนสวด เผา ฟรี ของวัดไผ่ล้อม จึงขออนุโมทนาในบุญนี้โดยทั่วกัน

ที่กล่าวมานี้ก็อยากจะเชิญชวนให้ทุกท่านได้ระลึกถึงความสำคัญของวัด ในฐานะสถานที่ที่ผูกพันกับชีวิตเราตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นสถานที่อันเป็นเนื้อนาบุญประเสริฐ เมื่อเราเข้าวัด หรือเห็นวัด เราก็จะระลึกถึงความสำคัญนี้ เราจะเดินเข้าวัดอย่างรู้คุณค่า และมีความหมายมากขึ้น ขอเจริญพร

 

“หลวงพี่น้ำฝน” 31 ส.ค. 2564