“วัดไร่ขิง” เททองหล่อพระพุทธรูปทรงเครื่อง รุ่นประวัติศาสตร์ – เปิดจองบาตรน้ำมนต์ นำรายได้ซื้อเครื่องมือแพทย์ พัฒนาศูนย์ปฏิบัติธรรม

0
5183

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 เวลา 15.09 น. ที่ลานหน้าพระอุโบสถวัดไร่ขิง พระอารามหลวง อ.สามพราน จ.นครปฐม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปัญฺโญ) กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นประธานในพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปหลวงพ่อวัดไร่ขิง ทรงเครื่องมหาจักรพรรดิ รุ่น ประวัติศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ ราชบัณฑิต เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยพระเทพศาสนาภิบาล (หลวงพ่อแย้ม) รองเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พร้อมด้วยคณะสงฆ์ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ แขกผู้มีเกียรติและประชาชนจำนวนมากร่วมในพิธี

พระเทพศาสนาภิบาล กล่าวว่า คติการสร้างและแนวความคิดในการออกแบบพระพุทธรูป “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” ทรงเครื่องนั้น ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่ศิลปะอินเดีย อย่างน้อยในสมัยปาละช่วงพุทธศตวรรษที่  14-17  และยังมีปรากฏต่อเนื่องมาในศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย  ศิลปะล้านนา ศิลปะอยุธยา จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์  ซึ่งมีคติในการสร้างที่แตกต่างกันอยู่หลายแนวความคิดของพุทธศาสนา ทั้งลัทธิมหายานและลัทธิเถรวาท อย่างไรก็ตาม จากแนวความคิดในการสร้างที่มีมาแล้วนั้น นับว่าเป็นกุศลเจตนาที่จะยกย่องเชิดชูพระบารมีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้อย่างสูงส่ง  อันแสดงถึงความวิจิตรงดงามและยิ่งใหญ่อย่างพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งบรรพบุรุษของเราได้บรรจงสร้างและส่งต่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้แก่เราในปัจจุบัน  ดังนั้น ผู้ออกแบบเครื่องทรงถวายองค์พุทธปฏิมาหลวงพ่อวัดไร่ขิงจึงมีแนวความคิดด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง  อันเป็นนิมิตหมายที่จะสร้างพุทธศิลป์ในแนวทางสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการค้นหาสัจจะ ความดี ความงาม และความหมายแห่งชีวิต

พระเทพศาสนาภิบาล กล่าวต่อไปว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอันประเสริฐเพื่อดับกิเลสและกองทุกข์  สมควรที่เราควรบูชาคุณอันประเสริฐของพุทธองค์ทั้งสามประการคือ พระปัญญาธิคุณ  พระบริสุทธิ์คุณ  และพระมหากรุณาธิคุณ  ดังนั้น ในการสร้างพระพุทธปฏิมาหลวงพ่อวัดไร่ขิงทรงเครื่องมหาจักรพรรดิในครั้งนี้ จึงเป็นการบูชาคุณพระพุทธองค์ประการหนึ่ง ที่สำคัญต่อพระพุทธศาสนาทั้งในด้านประวัติศาสตร์และหลักพุทธธรรม เป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสถาพรสืบต่อไป

พระเทพศาสนาภิบาล กล่าวอีกว่า รูปแบบทางศิลปะนั้น พุทธลักษณะองค์หลวงพ่อวัดไร่ขิงมีความพิเศษและเป็นลักษณะเฉพาะ ซึ่งอาจกล่าวได้พอสังเขปคือ พระพักตร์และพระเศียรคล้ายรูปแบบศิลปะสมัยอยุธยา มีความพิเศษเป็นเอกลักษณ์ที่พระเนตร  พระนาสิก และพระโอษฐ์ ส่วนพระวรกาย โดยส่วนใหญ่คล้ายรูปแบบศิลปะสมัยสุโขทัย  มีความพิเศษที่พระหัตถ์ พระชงและพระบาท  เส้นลายของจีวรและสังฆาฏิมีความเป็นเอกลักษณ์  ในการออกแบบนี้ผู้ออกแบบได้ศึกษาความงามจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ของเครื่องทรงและลวดลายในรูปแบบศิลปะสมัยสุโขทัย  อยุธยา และรัตนโกสินทร์  โดยนำมาผสานให้เกิดความกลมกลืนกัน  รูปทรงของเครื่องทรงแต่ละส่วนประกอบด้วย  พระมหามกุฎ  กรรเจียกจร  กรองศอ  ทับทรวง  พระสังวาล  เฟื่องข้าง ปั้นเหน่ง  รัดพระองค์  ตาบทิศ  กนกเหน็บ  พาหุรัด  ทองพระกร  ทองพระบาท  กนกหุ้มพระชง  เป็นต้น  รูปทรงแต่ละส่วน จะประกอบรวมกันตามแบบแผนของศิลปะสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์  และในส่วนรายละเอียดที่เป็นลวดลายภายในแต่ละชิ้นส่วน จะปรากฏลวดลายที่มีคตินิยมในรูปแบบศิลปะสมัยต่างๆ เช่น มหามงกุฎ  แบบเกี้ยวสามชั้นที่เป็นคตินิยมแบบศิลปะรัตนโกสินทร์ แต่สอดแทรกชั้นขอบกระบังหน้าแบบมงกุฎเทริดและกระจังทิศแบบศิลปะอยุธยา

 

 

“ลายกนกหุ้มพระชง เป็นลายกนกเศียรพญานาค  สื่อถึงตำนานและความสัมพันธ์ขององค์หลวงพ่อวัดไร่ขิงกับสายน้ำ  หรือแม่น้ำนครชัยศรีและมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินแดนแห่งนี้ ลวดลายที่เลือกใช้มีกระจายแทรกอยู่ทั่วไปในองค์ประกอบของเครื่องทรงทั้งหมด  คือลายกลีบบัวและดอกบัวอันเป็นคตินิยมในรูปแบบศิลปะสมัยสุโขทัย  ซึ่งรูปดอกบัวมีความหมายเป็นมงคลยิ่ง รวมถึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความดี  ความงามทั้งปวง”  พระเทพศาสนาภิบาล กล่าว

 

 

ในส่วนของการจัดสร้างบาตรน้ำมนต์หลวงพ่อวัดไร่ขิง รุ่น “เพชรมงคล”  ซึ่งมีการเปิดให้จองในวันนี้ด้วยนั้น พระเทพศาสนาภิบาล กล่าวว่า  ในการจัดสร้างมีเหตุปัจจัยแห่งการสร้างสรรค์หลายประการ ล้วนเป็นข้อกำหนดให้เกิดรูปแบบที่แสดงถึงความมุ่งหมายแห่งความเชื่อและความศรัทธา  เพื่อให้เกิดเป็นประติมากรรมทรงคุณค่า เป็นมงคลคู่ควรแก่การบูชา แสดงถึงความเป็นสิริมงคลและความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ผ่านประติมากรรมบาตรน้ำมนต์นี้ ผู้ออกแบบจึงมีแนวความคิดในการสื่อความหมายในรูปแบบสัญลักษณ์อันเป็นสวัสดิมงคลและศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อวัดไร่ขิง อันเป็นศูนย์รวมแห่งสรรพมงคล ประกอบด้วยสามส่วนคือ  ฝาบาตร บาตร และเชิงบาตรพร้อมฐานรองรับ โดยฝาบาตรซึ่งเป็นส่วนบนสุด ประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อวัดไร่ขิงทรงเครื่อง (จำลอง) ขนาดเล็กบนฐานกลีบบัว  และรองรับด้วยชั้นบัวลูกแก้วจำนวนสามชั้น อันหมายถึงไตรสิกขา (ศีล สมาธิ  ปัญญา)  หลังฝาบาตรเป็นรูปกลีบบัวบานซ้อนกัน  และที่ขอบฝาประดับด้วยลายกระจังปฏิญาณประดับอัญมณี เพื่อสื่อถึงคุณงามความดีอันควรกระทำให้แผ่ไปทั้งสี่ทิศหรือโดยรอบ

พระเทพศาสนาภิบาล กล่าวด้วยว่า บาตร ภายในเป็นที่บรรจุน้ำพระพุทธมนต์  วัตถุมงคลหรือสิ่งควรบูชาใดๆ โดยที่ภายนอกออกแบบเป็นกลีบบัวล้อมรอบจำนวนแปดกลีบ และมีกลีบซ้อนแทรกอยู่ อัญเชิญรูปเทวดานพเคราะห์ประทับในกลีบบัวทั้งแปดกลีบ เว้นไว้แต่พระราหู นอกจากนี้ เชิงบาตรพร้อมฐานรองรับ ประดับด้วยลายกลีบบัวบานและบัวลูกแก้ว  ใต้ฐานเชิงบาตรรองรับด้วยชั้นฐานที่มีรูปเศียรพญานาค ทั้งสี่ทิศเชื่อมต่อกันด้วยลายคลื่นน้ำที่ไหลวนเสมือนเวียนทักษิณาวัตร (เวียนขวา)  ซึ่งพญานาคชูเศียรทั้งสี่ทิศนั้น  หมายถึงการปกป้องพระพุทธศาสนา ป้องกันสิ่งอัปมงคล และยังหมายรวมถึงความอุดมสมบูรณ์ตามตำนานของหลวงพ่อวัดไร่ขิงที่เกี่ยวเนื่องกับแม่น้ำนครชัยศรี

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า  หลังจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปทรงเครื่อง และเหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิง รุ่น มหามงคลเจดีย์ เสร็จสิ้นแล้ว ได้มีประชาชนจำนวนมากที่ร่วมในพิธีต่างแห่แหนกันเช่าบูชาเหรียญหล่อนำฤกษ์ ตอกโค้ต ซึ่งทางวัดได้จัดไว้เพียง 339 เหรียญ หมดสิ้นเพียงไม่ถึง 15 นาที ซึ่งเหรียญรุ่นนี้ทางวัดสร้างเพื่อหารายได้สมทบทุนโครงการจัดสร้างพระบรมธาตุเจดีย์มหามงคลพระอุบาลี วัดไร่ขิง พระอารามหลวง ส่วนการเปิดจองบาตรน้ำมนต์ ผู้มีศรัทธาได้ทยอยเขียนใบสั่งจองล่วงหน้าเป็นจำนวนมากอีกด้วย