วธ.โดยกรมการศาสนา นำคณะสงฆ์-พุทธศาสนิกชนไปเรียนรู้พุทธประวัติ จุดกำเนิดพระพุทธศาสนา ณ ดินแดนพุทธภูมิ “อินเดีย – เนปาล” รุ่นที่ ๑

0
2488

วันนี้ (๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒) เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมนครเขตประชาสรรค์ วัดหัวลำโพง เขตบางรัก กรุงเทพฯ พระธรรมสุธี (นรินทร์ นรินฺโท) รักษาการเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เจ้าอาวาสวัดหัวลำโพง เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงเชิงปฏิบัติการโครงการส่งเสริมพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน ไปประกอบศาสนกิจ ณ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ประเทศอินเดีย-เนปาล รุ่นที่ ๑ โดยมีนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย นายมานัส ทารัตน์ใจ อดีตอธิบดีกรมการศาสนา ที่ปรึกษากรมการศาสนา นางศรีนวล ลัภกิตโร รองอธิบดีกรมการศาสนา ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนกว่า ๑๐๐ รูป/คน ร่วมประชุม

“””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””

“””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””

พระธรรมสุธี กล่าวในการเปิดการประชุมว่า ขออนุโมทนาและดีใจต่อท่านทุกรูปทุกคนที่ได้มีโอกาสไปศึกษาเรียนรู้ในประเทศอินเดียและเนปาล ถือว่าทุกท่านโชคดีที่กรมการศาสนา (ศน.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อให้ทุกท่านได้เรียนรู้พุทธประวัติในสถานที่จริง ซึ่งโอกาสดีๆ เช่นนี้หาได้ยากมากและถ้าได้ไปโดยส่วนตัวก็จะยิ่งลำบากโดยเฉพาะการขอวีซ่าเองก็ค่อนข้างยุ่งยาก ดังนั้นขอให้ทุกท่านให้ความร่วมมือในความพร้อมเพรียงกับคณะเดินทาง จะต้องตรงต่อเวลาและอดทน ซึ่งในอินเดียนั้นสิ่งที่ไม่ดีก็มี สิ่งที่ดีก็มีมาก สิ่งไหนที่ไม่ดีก็อย่าเอามา เอาแต่สิ่งที่ดีๆ กลับมา เมื่อกลับมาแล้วจะได้ปลื้มปีติยินดีต่อสิ่งที่ได้ไปศึกษาเรียนรู้

นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า ในปี ๒๕๖๒ นี้ ศน. โดยกองทุนส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ดำเนินการส่งเสริมให้พระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชนที่เป็นเครือข่ายปฏิบัติงานในโครงการต่าง ๆ ของศน. เดินทางไปประกอบศาสนกิจ ณ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ประเทศอินเดีย–เนปาล ได้แก่ สถานที่ประสูติ ณ ป่าลุมพินี เมืองกบิลพัสดุ์ สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล, สถานที่ตรัสรู้ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พุทธคยา, สถานที่ปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สารนาถ และสถานที่ปรินิพพาน ณ ป่าสาลวะโนทะยาน กุสินารา สาธารณรัฐอินเดีย รวม ๒ รุ่น จำนวน ๒๓๐ รูป/คน โดยรุ่นที่ ๑ เดินทางระหว่างวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ – ๘ มีนาคม ๒๕๖๒ จำนวน ๑๑๕ รูป/คน และรุ่นที่ ๒ เดินทางระหว่างวันที่ ๑๖ – ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๒ จำนวน ๑๑๕ รูป/คน

อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน เดินทางไปศึกษาเรียนรู้เพื่อประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระสงฆ์และเครือข่ายพุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติงานในโครงการต่าง ๆ ของกรมการศาสนา อาทิ พระธรรมวิทยากร พระสงฆ์ที่ปฏิบัติงานในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์  ผู้ทรงคุณวุฒิ วัฒนธรรมจังหวัด และผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา เมื่อได้สัมผัสกับบรรยากาศที่เป็นจริงในแดนพุทธภูมิแล้ว จะทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธามากยิ่งขึ้น พระสงฆ์จะได้นำหลักธรรมมาถ่ายทอด อบรม และพัฒนาประชาชนให้มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นพลังในการอุทิศตนให้แก่การเผยแผ่พระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น ส่วนพุทธศาสนิกชนที่ไปก็จะได้น้อมนำหลักธรรมคำสอนไปประพฤติปฏิบัติในวิถีชีวิต ทั้งนี้ยังเป็นการสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเสริมสร้างบทบาทของสถาบันทางศาสนา ในการปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน ส่งเสริมให้นำหลักธรรมของศาสนามาใช้ในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนใช้หลักธรรมในการดำรงชีวิตมากขึ้น

อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวอีกว่า จากการที่ศน. ร่วมกับพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล โดยพระธรรมโพธิวงค์ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางไปประกอบศาสนกิจ ณ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ณ ประเทศอินเดีย-เนปาล จำนวน ๙ ศูนย์ ขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ เพื่ออำนวยความสะดวกให้คณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชน ได้ปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาและข้อมูลการเดินทางที่ถูกต้อง ขณะนี้ศูนย์ดังกล่าวมีพร้อมให้บริการทุกหน่วยงานอย่างเต็มที่ ประกอบด้วย ศูนย์วัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล ๑ แห่ง และศูนย์ในประเทศอินเดีย อีก ๘ ศูนย์ ได้แก่ ที่วัดไทยกุสินารา, วัดไทยพาราณสี, วัดไทยพุทธคยา, วัดไทยสารนาถ, วัดไทยเชตวันมหาวิหาร, วัดไทยนวราชรัตนาราม,วัดไทยนวมินทร์ธัมมิกราช และวัดอโยธยารามราชธานี