วธ.เผยผลโพล “วันอนุรักษ์มรดกไทย” ชี้ความสำคัญเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

0
211

รำลึกถึงความสำคัญการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ คนไทยส่วนใหญ่มีความรักและภาคภูมิใจในโบราณสถาน-มรดกภูมิปัญญา-ประเพณีมากที่สุด แนะเร่งฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น-ช่างสิบหมู่-ดนตรีไทย

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิตสำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชนในหัวข้อ “วันอนุรักษ์มรดกไทย” (2 เมษายน 2565) สำคัญอย่างไร จากกลุ่มตัวอย่าง 6,414 คนทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกอาชีพและทุกภูมิภาค ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 60.07 เห็นว่า “วันอนุรักษ์มรดกไทย” มีความสำคัญ คือ เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รองลงมา ร้อยละ 58 เพื่อให้คนไทยได้รำลึกถึงความสำคัญในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ และร้อยละ 57.45 เทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงเป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์และสืบสานมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมถึงยังมีความเห็นว่าควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติมากขึ้น และส่งเสริมให้ประชาชนและเอกชนได้มีความรู้สึกร่วมในความเป็นเจ้าของโบราณสถาน โบราณวัตถุและร่วมรับผิดชอบดูแล ทำนุบำรุงรักษาไว้ ตามลำดับ นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 74.77 คิดว่า ความหมายของคำว่า “มรดกไทย” คือ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงลักษณะของความเป็นชาติ รองลงมา คือ ร้อยละ 61.71 โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์ และดนตรี และร้อยละ 54.90 เป็นการดำเนินชีวิตและคุณค่าประเพณีต่าง ๆ อันเป็นผลผลิตร่วมกันของผู้คนในผืนแผ่นดินไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า เมื่อสอบถามถึงมรดกไทยที่เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่มีความรักและภาคภูมิใจมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ อันดับ 1 โบราณสถาน เช่น วัด โบสถ์ วิหาร เจดีย์ อุทยานประวัติศาสตร์ เป็นต้น อันดับ 2 มรดกภูมิปัญญา เช่น สมุนไพร อาหาร ขนม เครื่องแต่งกาย นวดแผนไทย เป็นต้น  อันดับ 3 ประเพณี เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ เป็นต้น อันดับ 4 นาฏศิลป์ไทย เช่น การแสดงโขน ละคร การละเล่นพื้นเมือง และมหรสพไทย และอันดับ 5 โบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป ศิลาจารึก เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น ส่วนกิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทยที่ประชาชนส่วนใหญ่สนใจเข้าร่วม 5  อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ลงนามถวายพระพรเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  อันดับ 2 ชมนิทรรศการหรือวีดิทัศน์เผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อันดับ 3  เข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อันดับ 4 ชมการแสดงนาฏศิลป์และดนตรี และอันดับ 5 กิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า เมื่อถามประชาชนถึงแหล่งเรียนรู้หรือสถานที่ที่จะช่วยส่งเสริมและอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติในยุคปัจจุบัน ผู้ตอบแบบสอบถามระบุ 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 โบราณสถาน อันดับ 2 ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว/ญาติ/เพื่อน  อันดับ 3 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  อันดับ 4 อุทยานประวัติศาสตร์ และอันดับ 5 ห้องสมุด หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ นอกจากนี้ เมื่อถามถึงเรื่อง   ที่ควรช่วยกันฟื้นฟู อนุรักษ์ และสืบทอดอย่างเร่งด่วนมากที่สุดก่อนจะสูญหายไป 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 วัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น ภาษาถิ่น การแต่งกาย อาหาร ศิลปะพื้นบ้าน เป็นต้น อันดับ 2 ช่างสิบหมู่ เช่น ช่างเขียน ช่างแกะ ช่างสลัก ช่างปั้น ช่างปูน ช่างรัก เป็นต้น อันดับ 3 ดนตรีไทย   อันดับ 4 ประเพณี เทศกาล  ต่าง ๆ เช่น ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว ประเพณีตานต๊อด (การทำบุญด้วยใจไม่หวังผลตอบแทน) เป็นต้น และอันดับ 5 งานศิลปหัตถกรรมที่มีมาตั้งแต่อดีตกาลทั้งที่เป็นเครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ

ขณะเดียวกันผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า หน่วยงานรัฐควรจัดกิจกรรมพิเศษ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้แก่ กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การแสดงศิลปวัฒนธรรมของ และการสาธิตผลงานมรดกภูมิปัญญาของภูมิภาคต่าง ๆ  กิจกรรมประกวดศิลปวัฒนธรรมและส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การแต่งกาย ภาษา อาหาร การแสดงทางวัฒนธรรมท้องถิ่น นิทรรศการมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงความเป็นชาติ เช่น โบราณวัตถุ โบราณสถาน ศิลปวัตถุ ศิลปหัตถกรรม วรรณกรรม ดนตรี และนาฏศิลป์ และเห็นว่าประชาชนมีส่วนช่วยอนุรักษ์มรดกไทยโดยเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรมทุกแขนงผ่านสื่อออนไลน์ รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรม เช่น ประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทงและสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น การใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องทั้งการพูดและเขียน รวมทั้งแต่งกายด้วยชุดผ้าไทย/ผ้าพื้นเมือง และกินอาหารไทย/อาหารพื้นเมือง