วธ.เปิดตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรมเมืองเก่าสงขลา คาดยกเป็นเมือง มรดกโลกได้เร็วๆ นี้

0
2678

 

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน เวลา 17.30 น. ที่ถนนนางงาม ถนนสายวัฒนธรรมเมืองเก่าสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา ดร.ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม  ถนนสายประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของชาวเมืองสงขลาแบบคลาสสิก โดยมีนายปรารพ เหล่าวานิช เลขานุการ รมว.วธ. พร้อมด้วยวัฒนธรรมจังหวัด(สวจ.) สงขลา ปัตตานี ยะลา นายรังสี รัตนปราการ ประธานภาคีคนรักเมืองสงขลา และเจ้าของโรงสีแดง  ผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) พร้อมด้วยเครือข่ายสมาชิกผู้ประกอบการร้านค้า คณะครู อาจารย์ และนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากเข้าร่วม ท่ามกลางการแสดงแสงสีเสียงและการร่ายรำมโนราห์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ กว่า 300 ชีวิต สร้างบรรยากาศภายในงาน

ดร.ฉวีรัตน์ กล่าวว่า  รัฐบาลดำเนินโครงการตลาดประชารัฐ ซึ่งเป็นการบูรณาการในรูปแบบประชารัฐพัฒนาตลาดใหม่ขยายพื้นที่ตลอดที่มีอยู่เดิม โดนภาครัฐและภาคเอกชนร่วมบูรณาการจัดสรรพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้า เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเกษตร ผู้มีรายได้น้อย ให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยดำเนินการผ่านตลาดประชารัฐทั้ง 9 ประเภท จาก 9 หน่วยงาน ซึ่งตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรมของวธ. ได้ร่วมบูรณาการดำเนินงานภายใต้โครงการดังกล่าว

ผู้ช่วย รมว.วธ. กล่าวต่อว่า เอกลักษณ์ของตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรมนั้น เป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ในการพัฒนาสร้างสรรค์สินค้าบริการทางวัฒนธรรม รวมถึงการบูรณาการทำงานร่วมกับเครือข่ายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ นำประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนมาเชื่อมต่อกับสินค้าทางวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จทางด้านรายได้ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของชุมชนต่อไป

“การที่ได้มาเห็นตลาดวัฒนธรรมในชุมชนที่มีความเก่าแก่กว่า 140 ปีนี้แล้ว ถ้ามองในมุมของกรมศิลปากรก็เปรียบได้กับโบราณสถาน ท่านประธานภาคีคนรักเมืองสงขลาและเครือข่ายก็เป็นคนรักในบ้านเกิดจนสมารถสร้างที่ตรงนี้ให้เป็นแหล่งรวมของชุมชน อย่างที่เห็นในวันนี้ มีผู้เข้ามาทำกิจกรรมกันมากมาย อีกอย่างคือทำให้ได้เห็นอัตลักษณ์ของความเป็นปึกแผ่นในวิถีวัฒนธรรม ในสิ่งที่หลังลืมไปจากเดิมก็ถูกเรียกฟื้นกลับคืนมาสู่ปัจจุบัน กับสิ่งที่จะทำให้เมืองสงขลาเป็นเมืองมรดกโลกนั้น ทางนี้ก็มีนักวิชาการเข้ามาช่วยเหลือร่วมกับคนในท้องถิ่นเองด้วย ทางกระทรวงวัฒนธรรมที่มีกรมศิลปากรดูแลเรื่องนี้ ก็จะช่วยส่งเสริมสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้มแข็งผนวกกับภาครัฐด้วยแล้ว ก็คาดว่าในอนาคตเมืองสงขลาจะเป็นเมืองมรดกโลกได้อย่างแน่นอน” ผู้ช่วยรมว.วธ. กล่าว

 

นางเขมชนิดาภา ฤทธิกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมและมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ผนวกกับความเข้มแข็งของชุมชน ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนถ้องถิ่นและเครือข่ายวัฒนธรรม ดังนั้นในปะงบประมาณ 2561 วธ.โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้พิจารณาคัดเลือกถนนสายวัฒนธรรมเมืองเก่าสงขลา ให้เป็นพื้นที่บูรณาการดำเนินงานตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้ประชาชนมีความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และต่อยอดสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและครอบครัว ส่วนการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย ขบวนแห่เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม การรวมตัวของโนรามากกว่า 300 คน การสาธิต และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ทั้งในจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียงได้แก่ พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส การแสดงของศิลปินพื้นบ้าน การจัดตลาดนัดศิลปวัฒนธรรม (street art) เป็นต้น

ด้านนายรังสี ทายาทรุ่นที่ 3 โรงสีแดง โรงสีข้าวโบราณ กล่าวว่า จังหวัดสงขลาเป็นมนต์เสน่ห์ของหัวเมืองสำคัญทางการค้า ครอบคลุมถนนสายสำคัญทั้ง 3 เส้น ย้อนรอยไปในอดีตสู่อีกมุมมองของจังหวัดสงขลา จะได้เห็นสถาปัตยกรรมอาคารเก่า ในอดีตราว 200 ปีก่อนนั้น ตัวเมืองสงขลาตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาเรียกว่า “เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน” จนกระทั่ง พ.ศ.2385 จึงขยายมาทางฝั่งทิศตะวันออกบริเวณตำบลบ่อยางเรียกกันว่า “เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง” เริ่มแรกมีถนนสองสายคือ ถนนนครนอก อันเป็นถนนเส้นนอกที่ติดกับทะเลสาบ และถนนนครใน เป็นถนนเส้นในเมือง ต่อมาได้มีการตัดถนนสายที่สามเรียกว่าถนนเก้าห้อง (ย่านเก้าห้อง) หรือในปัจจุบันเรียกกันว่า ถนนนางงาม ที่ได้จัดกิจกรรมในวันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการเดินชมย่านเก่าเมืองสงขลานั้น นักท่องเที่ยวสามารถเดินไปตามถนนทั้ง 3 สายนี้ จะพบความคลาสสิกจากห้องแถวไม้แบบจีน ตึกเก่าสไตล์ชิโนโปรตุกีส ศาลเจ้าพ่อกวนอู โรงแรมนางงาม อันเป็นโรงแรมไม้เก่าแก่ประดับลายฉลุไม้วิจิตรบรรจง ตึกแถวแบบจีนโบราณของชาวจีนฮกเกี้ยนปะปนอยู่ด้วยกันทั้งสองฟากถนน ถึงแม้บางอาคารจะมีการปรับปรุงทาสีใหม่ แต่ก็ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นเมืองสงขลา

นอกจากการเดินลัดเลาะชมตึกเก่าแล้ว อย่าลืมแวะชิมอาหารและขนมอร่อยมากมาย ทั้งไทย จีน ฝรั่ง ที่มีให้เลือกชม และเต็มไปด้วยอาหารคาวหวานท้องถิ่นอันเลื่องชื่อ รวมทั้งมีของฝากพื้นเมืองให้เลือกซื้อกันมากมายจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของถนนสายนี้ซึ่งไฮไลต์ของอาหารจะอยู่ที่ โจ๊กเกาะลอย ข้าวสตูร้านเกียดฟั่ง (โกยาว) สตูแบบจีนที่กินคู่กับซาลาเปาร้อนๆ ขนมสำปันนี ขี้มอด ทองเอก ข้าวฟ่างกวน ขนมเทียนสด ซึ่งเป็นขนมโบราณที่หากินยากในสมัยนี้ มีให้ได้เลือกอิ่มอร่อยกันแบบเต็มที่

การผสมผสานความสมัยใหม่เข้าไปในเมืองเก่า มีการจัดทำสตรีทอาร์ตที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปแชร์ในโซเชียลมีเดียจนเป็นกระแส จุดเด่นของสตรีทอาร์ต (Street Art) หรือศิลปะข้างถนนของที่นี่คือ การบอกเล่าเรื่องราวอดีตของเมืองสงขลาผ่านงานศิลปะ เนรมิตอาคารเก่าสุดคลาสสิกสไตล์ชิโนโปรตุกีส บริเวณสี่แยกถนนนางงาม สร้างศิลปะแนวสตรีทอาร์ต จิตรกรรมบนผนังอาคารเก่าภาพเขียนจำลองบรรยากาศร้านน้ำชาชื่อ “ฟุเจา” ที่เคยเปิดในอาคารนี้ และอีกหนึ่งจุดบริเวณประตูม้วนเหล็กโรงสีแดง “หับ โห้ หิ้น” ถ่ายทอดเรื่องราวครั้งเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้อย่างน่าสนใจอีกด้วย