วธ.เปิดงาน “กริชาภรณ์ : ภูมิปัญญาอาเซียน ปี 60” เชื่อมใจชายแดนใต้ โชว์เครื่องแต่งกายสุดหรู 3 ชาติอาเซียนเข้าร่วมสุดคึกคัก

0
2517

กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับจังหวัดปัตตานี เปิด “โครงการวัฒนธรรมเชื่อมใจชายแดนใต้สันติสุข “กริชาภรณ์ : ภูมิปัญญาอาเซียน ปี 60” เปิดพื้นที่คณะวิทยากร ผู้เข้าร่วมเสวนาจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และผู้ทรงคุณวุฒิ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง กริช – ผ้า และเครื่องแต่งกายมรดกทางวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม เวลา 09.40 น. นายกฤษศญพงษ์  ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(ปลัดวธ.) เป็นประธานเปิดโครงการวัฒนธรรมเชื่อมใจชายแดนใต้สันติสุข “กริชาภรณ์ : ภูมิปัญญาอาเซียน ประจำปี 2560” ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดปัตตานี มีพลโท อุกฤษณ์ อากาศวิภาต ที่ปรึกษาผู้แทนพิเศษของรัฐบาล นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายประยูรเดช  คณานุรักษ์  ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี นายกิตติพันธ์ พานสุวรรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล และสงขลา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น คณะวิทยากรและผู้เข้าร่วมเสวนาจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และพี่น้องชาวไทยมุสลิม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วม บรรยากาศภายในงานเป็นไปด้วยความคึกคัก

​               

ปลัดวธ. กล่าวว่า วธ. มีนโยบายหลักในการใช้มิติวัฒนธรรมสร้างคนเป็นคนดี สังคมมีความปรองดองสมานฉันท์ สร้างรายได้ให้ชุมชน สร้างความมั่นคงให้ประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สร้างภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของไทยสู่เวทีโลก การจัดงานครั้งนี้ นับว่าตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล   ซึ่ง วธ.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะส่งผลให้ประชาชนในท้องถิ่นเกิดความภาคภูมิใจ รักและหวงแหนมรดกวัฒนธรรม และมีส่วนร่วมในการสืบสาน ปกป้องคุ้มครองมรดกวัฒนธรรม นำมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ที่สำคัญเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องอาวุธโบราณ กริช ผ้า และเครื่องแต่งกาย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากนักวิชาการด้านกริช ผ้า และเครื่องแต่งกายจากประเทศต่าง ๆ  อาทิ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และบรูไน รวมทั้งวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องโลหะในประเทศไทยเข้าร่วมกิจกรรม ทาง วธ.จะนำไปรวบรวมองค์ความรู้เผยแพร่สู่คนรุ่นใหม่ สืบทอด อนุรักษ์ และพัฒนาต่อไป

​                นายจารุวัฒน์  เกลี้ยงเกลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จังหวัดปัตตานี มีความเป็นพหุวัฒนธรรมอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากหลักฐานที่ปรากฏชัด โดยเรียงลำดับอายุความเก่าแก่ เช่น ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว วัดช้างให้ และมัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานบ่งบอกถึงความเป็นพหุวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี สำหรับกริช และอาภรณ์ ก็เช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรม พัฒนาการทางด้านประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาของจังหวัดปัตตานีและดินแดนแถบนี้ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ข้อมูลจากนายประยูรเดช  คณานุรักษ์  ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี พอสังเขประบุว่า กริช เป็นอาวุธประจำตัวที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในสมัยก่อน นิยมใช้กันมากในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย สำหรับประเทศไทยนิยมในหมู่ชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ กริชมีบทบาทเป็นทั้งอาวุธ และเครื่องประดับกายที่บ่งบอกถึงความเป็นชายชาตรีที่แสดงถึงความกล้าหาญ สถานะทางสังคม และเศรษฐกิจของผู้เป็นเจ้าของหรือวงศ์ตระกูล ปัจจุบันช่างทำกริชลดน้อยลง ศิลปะการแสดงจากกริช เช่น “รำกริช” และ “ซีละกริช” ก็หาชมได้ยากแล้ว อย่างไรก็ตาม การใช้กริชเพื่อบ่งบอกฐานะทางสังคมยังคงหลงเหลืออยู่บ้างในประเทศมาเลเซีย ที่สุลต่าน หรือชนชั้นสูงก็ยังใช้กริชเป็นสัญลักษณ์ และกริชยังคงมีบทบาทหลงเหลืออยู่ในรูปแบบของเครื่องประดับในงานต่าง ๆ เช่น การเข้าสุนัต และการแต่งงาน เป็นต้น

ด้านนายวิธาน ศิริบุญจวรรณ ที่ปรึกษาพหุวัฒนธรรมภาคกลาง จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ตนได้นำวัฒนธรรมภาคกลางมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวัฒนธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเราต่างเป็นพี่น้องกันจึงได้นำเอาสิ่งที่รักมาแบ่งปันกัน โดยนำเอาอาวุธกับอาภรณ์มาสื่อถึงกัน ภาคใต้มีผ้าปาเต๊ะปัตตานี ภาคกลางเรามีผ้าเขียนทอง มีผ้าลายอย่าง และมีช่างจากวังชายมาทำผ้าเขียนทองอวดคนใต้ด้วย ซึ่งด้านนอกเขามีงานตีกริช มีงานทองเหลืองอวดเราเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงการนำเอาวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่นมาเชื่อมใจกัน คนไทยด้วยกันแม้จะอยู่ต่างที่ต่างถิ่นแต่เราก็รักกันได้ เป็นเพื่อนที่ดีกันได้ และเป็นพี่น้องกันได้จากวัฒนธรรมด้วยกัน ดังนั้นการแต่งกายของตนจึงนำเอาชุดกรมข้างขวาสมัยอยุธยาซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายของขุนนางชาวมุสลิม และกริชที่ประกอบเครื่องแต่งกายก็เป็นกริชอยุธยา และยังมีดาบสกุลภาคกลางมาโชว์ในงานนี้ด้วย

สำหรับการแต่งกาย จังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดหนึ่งใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลาม ซึ่งมีความนิยมที่เหมือนกัน คือ การนุ่งผ้าถุงหรือโสร่งทั้งหญิงและชาย ผู้ชายจะนุ่งผ้าโสร่งลายตาหมากรุก ผู้หญิงนิยมนุ่งผ้าโสร่งปาเต๊ะ สำหรับชาวไทยมุสลิมสิ่งที่สำคัญคือต้องมิดชิดตามหลักศาสนา ซึ่งการแต่งกายเช่นนี้มีวิวัฒนาการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน