วธ.เตรียมเสนอ “เมืองโบราณศรีเทพ” เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นมรดกโลกในเดือนม.ค. 62 ชี้โดดเด่นเป็นเมืองวัฒนธรรมทวารวดี-เขมรโบราณ

0
1641

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2561 ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(รมว.วธ.) ลงพื้นที่ตรวจราชการในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 7/2561 พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 (พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัยและอุตรดิตถ์) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (อุดรธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภูและบึงกาฬ) ระหว่างวันที่ 16 – 18 กันยายน 2561 โดยได้เยี่ยมชมและติดตามความคืบหน้าการพัฒนาศักยภาพอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และการจัดทำข้อมูลประกอบการเสนอเมืองโบราณศรีเทพ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) ต่อยูเนสโก และเยี่ยมชมการพัฒนาโบราณสถานเขาคลังนอก ที่เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นประธานในพิธีเปิดถนนสายวัฒนธรรม “ถนนคนเดิน : ถนนคนเพ็ดซะบูน” และเยี่ยมชมหอโบราณคดีเพชรบูรณ์อินทรชัย

นายวีระ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการว่า  กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1  มีความโดดเด่นวัฒนธรรมทั้งมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ โดยพื้นที่ 2 กลุ่มจังหวัดนี้มีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม 2 แห่ง ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์มีอายุกว่า 3,500 ปี  และเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร คือ กำแพงเพชรและศรีสัชนาลัย  ซึ่งมีอายุกว่า 700 ปี นอกจากนี้ ได้ผลักดันอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี อยู่ในบัญชีเบื้องต้นมรดกโลกของยูเนสโกแล้ว รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จะเสนอชื่อเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลกภายในเดือนมกราคมปี 2562  เนื่องจากเป็นเมืองโบราณในยุคทวารวดีที่มีความยิ่งใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

รมว.วธ. กล่าวอีกว่า จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีเมืองโบราณศรีเทพโดยกรมศิลปากรพบว่า  เมืองโบราณศรีเทพมีความเก่าตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ 2,500 ปี และได้ขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ซึ่งได้นำมาศึกษาเพื่อค้นหาอายุพบว่ามีอายุเก่าแก่ถึง 1,800 ปี และ ยุคทวารวดีที่มีความเก่าแก่ถึง 1,400 ปี ถือว่าเป็นเมืองยุคทวารวดีที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีความเจริญสืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงยุควัฒนธรรมเขมรโบราณซึ่งได้แผ่อิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจนถึงเมืองโบราณศรีเทพ โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งในรูปแบบสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่มีอายุกว่า 1,000 ปี  ทั้งนี้ จากการสำรวจขุดค้นและบูรณะโบราณสถานเมืองโบราณศรีเทพของกรมศิลปากรตั้งแต่อดีตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ขณะนี้มีความพร้อมที่จะเสนอเข้าสู่บัญชีเบื้องต้นมรดกโลกได้ โดยกรมศิลปากรอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและจัดทำเอกสารเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และเสนอต่อยูเนสโกภายในเดือนมกราคมปี 2562

นายวีระ กล่าวด้วยว่า  สำหรับโครงกระดูกมนุษย์ที่กรมศิลปากรได้ขุดค้นพบ จะจัดทำพิพิธภัณฑ์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลประวัติความเป็นมาและจะจำลองโครงกระดูกมนุษย์ดังกล่าวมาจัดแสดง และนำโครงกระดูกมนุษย์ที่ได้ขุดค้นพบไปจัดเก็บไว้อย่างเหมาะสม เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนได้มาชมและศึกษาหาความรู้ ทั้งนี้ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2478 โดยเมืองโบราณศรีเทพในอดีตเป็นที่ตั้งของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุกว่า 2,500 ปี เป็นจุดเชื่อมโยงการผสมผสาน แพร่กระจายทางวัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนทรัพยากรทางวัฒนธรรมสำคัญในภูมิภาค ชุมชนมีการพัฒนาขึ้นเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ในวัฒนธรรมทวารวดี อายุกว่า 1,400 ปี และสืบเนื่องความเจริญมาจนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ อายุกว่า 1,000 ปี และเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่มีความสำคัญโดดเด่นในพื้นที่ศูนย์กลางภูมิภาคตอนในของประเทศไทย แสดงถึงภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์และผสมผสานงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จนมีเอกลักษณ์รูปแบบเฉพาะสกุลช่างของตนเอง