วธ.เชื่อมสัมพันธ์ไทย-อินเดีย เปิดโลกทัศน์การท่องเที่ยวเชิงพุทธ (Buddhist Tourism) กลุ่มถ้ำอชันตา-เอลโลร่า แหล่งมรดกโลก

0
2765

“ในโอกาสครบรอบ 70 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอินเดีย กระทรวงวัฒนธรรมต้องการให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เนื่องจากอินเดียเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งแต่เดิมเป็นสิงคโปร์มาเป็นอันดับต้นๆ แต่ปัจจุบันเป็นอินเดียซึ่งมีประชากรมากกว่า เงินทุนก็มากมายมหาศาล คนก็มีฐานะดีก็มีเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมามักชอบที่จะเข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ จัดพิธีแต่งงาน และฉลองครบรอบวันแต่งงานในประเทศไทย จึงนับเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก ดังนั้นความเข้าใจที่ดีต่อกันจึงเป็นส่วนสำคัญ กระทรวงวัฒนธรรมก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องผลักดันด้านการท่องเที่ยวร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ การหารือกับท่านผู้ว่าการรัฐในวันนี้ เราเห็นพ้องต้องกันว่าประเด็นเรื่องวัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญ และการท่องเที่ยวเชิงศาสนาพุทธที่ควรต้องสนับสนุนให้มีขึ้น และรัฐนี้ก็มีแหล่งมรดกโลกที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธจำนวนมาก ซึ่งก็เป็นประเด็นเรื่องวัฒนธรรมการท่องเที่ยว (Cultural tourism)”

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยผลการหารือกับผู้ว่าการรัฐมหาราชฏระ ณ ทำเนียบผู้ว่าการฯ เมืองมุมไบ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะเชื่อมความสัมพันธ์

มุมมองด้านท่องเที่ยวเชิงศาสนาพุทธในแดนพุทธภูมินั้น เมืองออรังกาบาด ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของรัฐมหาราษฎระ  เมืองแห่งนี้ถือเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งสำคัญของอินเดีย เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ UNESCO ประกาศให้เป็นมรดกโลก และยังมีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ของอินเดียอีกด้วย เสน่ห์ของโบราณสถาน ณ เมืองแห่งนี้ได้ถูกจารึกเป็นประวัติศาสตร์อันยาวนานที่สืบเนื่องมากว่า 2,000 ปี ดังนั้นจึงถือว่าเหมาะสมอย่างยิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมให้การสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว

ประวัติศาสตร์ของออรังกาบาดนั้น เริ่มต้นที่ราชวงศ์สาตวาหนะ (Satavahana) ซึ่งเริ่มแรกเป็นเพียงรัฐบรรณาการของราชวงศ์โมริยะหรือเมารยะ (Maurya) และต่อมาเมื่อราชวงศ์โมริยะล่มสลายลงเมื่อ 187 ปีก่อน ค.ศ. ราชวงศ์นี้ก็ประกาศตนเป็นอิสระและมีอำนาจปกครองดินแดนตั้งแต่ตอนกลางเรื่อยลงไปสู่บริเวณคาบสมุทรทางใต้ของอนุทวีปในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 2 ก่อน ค.ศ. ถึงคริสตศตวรรษที่ 3 โดยมีเมืองหลวงชื่อ ประติษสถานะ (Pratishsthana) ซึ่งก็คือบริเวณหมู่บ้านไปถาน (Paithan) ในเมืองออรังกาบาดปัจจุบัน

การปกครองเมืองออรังกาบาดของราชวงศ์โมริยะหรือเมารยะ มีความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนในชุมชนและพ่อค้าส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ดังจะเห็นได้จากที่มีการค้นพบวิหารถ้ำทางพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากในเมืองนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นศาสนสถานทางพระพุทธศาสนาจำนวนมากแล้ว รองลงมาก็เป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดู และศาสนาเชน

“ออรังกาบาด เป็นโครงสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธของอินเดียและเป็นกลุ่มหนึ่งของสังเวชนียสถานที่ทางการอินเดียต้องการโปรโมทกลุ่มถ้ำอชันตาและกลุ่มถ้ำเอลโลร่า ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธที่ชาวพุทธทั่วโลกควรเดินทางมาสักการะด้วย ซึ่งแต่เดิมนั้น ที่ถ้ำอชันตาเคยมีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษา ดังจะเห็นได้จากกลุ่มกุฏิสงฆ์ที่เรียงรายอยู่รอบถ้ำ ซึ่งถ้ำในลักษณะนี้มีอยู่หลายถ้ำด้วยกัน โดยแต่ละถ้ำสามารถเดินถึงกันได้ภายใน 1 วัน นอกจากนี้ศิลปะเทคนิคการเจาะแต่งถ้ำก็สุดอลังการ ช่างสมัยนี้ไม่สามารถทำได้ ซึ่งกลุ่มถ้ำอชันตา เป็นการขุดแต่งจากด้านหน้าเข้าไปด้านใน ส่วนที่ถ้ำเอลโลร่า เป็นการขุดแต่งจากด้านบนลงด้านล่าง และด้านข้างเข้าไปด้านหลัง ดังนั้นลักษณะความแม่นยำของการใช้เทคนิค การวางแผนระหว่างพระสงฆ์และช่างที่ทำงานร่วมกันสำหรับเจาะแต่งถ้ำทั้งสองแห่งนี้จะต้องเป็นทีมเวิร์กร่วมกัน แต่แรกผมยังคิดว่าเป็นฝีมือของมนุษย์ต่างดาวเสียด้วยซ้ำ เพราะคนธรรมดาไม่น่าจะทำให้งดงามได้ถึงเพียงนี้ และทุกแง่มุมก็มีเรื่องเล่าจากภาพสลักหินนูนสูงและภาพเขียนสีที่บ่งบอกเรื่องราวของพระพุทธศาสนา” นายเอกพล พูลพิพัฒน์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ กล่าว

ในรายละเอียดกลุ่มถ้ำอชันตา(Ajanta) เป็นกลุ่มถ้ำทางพุทธศาสนาที่ได้รับการประกาศจาก UNESCO ให้เป็นมรดกโลกในปี 2526 อยู่ห่างจากตัวนครออรังกาบาดไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 107 กิโลเมตร ชื่อของกลุ่มถ้ำนี้ตั้งตามชื่อหมู่บ้านอชันตะในบริเวณที่อยู่ห่างออกไป 12 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเทือกเขาสหยาทรี (the Sahyadri hills) สร้างโดยการเจาะช่องกลางหน้าผาและแกะสลักเนื้อหินเพื่อตกแต่งภายใน กลุ่มถ้ำเรียงตัวเป็นรูปเกือกม้าจากตะวันออกไปตะวันตก ไปตามแนวแม่น้ำวโฆระ (Waghora – แปลว่า เสือ ในภาษามราฐีท้องถิ่น) ที่ไหลเลียบตีนผาลงสู่เบื้องล่าง กลุ่มถ้ำนี้ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2362 โดยคณะกลุ่มทหารที่ติดตามกองทัพแห่งเขตการปกครองมัทราส (Madras Presidency) นำโดยร้อยเอกจอห์น สมิธ ในขณะออกล่าเสือ

กลุ่มถ้ำอชันตะประกอบด้วยถ้ำ 29 ถ้ำ ซึ่งไม่ได้ถูกสร้างในยุคเดียวกันทั้งหมด แต่ได้รับการสร้างเพิ่มเติมต่อเนื่องกันมา และใน 29 ถ้ำนี้ มี 5 ถ้ำ เป็นอุโบสถเพียงอย่างเดียว กล่าวคือเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์ขนาดย่อมและพระพุทธรูป ในขณะที่ถ้ำที่เหลืออีก 24 ถ้ำนั้นเป็นวิหาร กล่าวคือ มีทั้งวิหาร พระพุทธรูปและห้องกุฎิสงฆ์ โดยถ้ำทั้งหมดนี้สามารถแบ่งตามยุคของศิลปะที่ปรากฏได้เป็นสองกลุ่ม

กลุ่มที่ 1 เรียกกันว่ากลุ่มยุคศิลปะหินยาน ซึ่งประกอบด้วยถ้ำหมายเลข 9, 10, 12 สร้างในสมัยราชวงศ์สาตวาหนะ ลักษณะเด่นของถ้ำกลุ่มหินยานนี้ก็คือมีลักษณะการตกแต่งที่เรียบง่าย ไม่วิจิตรพิสดาร ไม่มีรูปหรือรูปภาพของพระพุทธเจ้า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในแนวคิดของหินยานที่มีอิทธิพลอยู่สมัยนั้นศิลปินจะไม่นิยมแทนพระพุทธเจ้าในรูปของมนุษย์(รูปเคารพ) แต่นิยมแทนพระพุทธเจ้าด้วยสัญลักษณ์เช่นช้าง ดอกบัว ธรรมจักร บัลลังก์ รอยพระพุทธบาทหรือเจดีย์ขนาดย่อม เป็นต้น ในส่วนที่เป็นอุโบสถนั้นจะเห็นว่ามีเจดีย์เป็นพระประธาน แทนที่จะเป็นพระพุทธรูป ส่วนภาพเขียนนั้นก็นิยมเขียนลายดอกไม้และรูปสัญลักษณ์สัตว์ต่างๆ ถ้ำหมายเลข 10 เป็นถ้ำที่เก่าแก่ที่สุด ส่วนถ้ำหมายเลข 12 นั้นเป็นวิหารยุคเก่าแก่ที่สุด

กลุ่มที่ 2 เรียกว่ากลุ่มศิลปะมหายาน ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์วากาตกะ (the Vakataka Dynasty) ประมาณพุทธศตวรรษที่ 10 ถึง 11 และบางถ้ำยังสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ราษฏระกูฏ ในพุทธศตวรรษที่ 12 ถึง 13 ศิลปะของถ้ำกลุ่มนี้จะมีลักษณะที่วิจิตรพิสดารกว่าในกลุ่มหินยานมาก เพราะมีการแกะสลักภาพนูนสูง รวมถึงมีการแกะสลักพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ สิ่งที่ถือว่าเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือภาพเขียนสีบนฝาผนังถ้ำที่วิจิตรงดงาม สามารถแสดงถึงความมีชีวิตชีวา ความสงบเย็น รวมถึงสามารถสื่อถึงความเมตตาของพระพุทธเจ้าและบรรดาพระโพธิสัตว์ได้อย่างชัดเจน

ภาพเขียนเหล่านี้บ่งบอกเล่าเรื่องราวในชาดกและพุทธประวัติตอนต่างๆ โดยภาพเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดและถือเป็นสัญลักษณ์ของอชันตะก็คือ ภาพเขียนพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (วัชระปาณี – แปลว่าผู้ถือสายฟ้า) และพระโพธิสัตว์ปัทมะปาณี (หมายความว่าผู้ถือดอกบัว) บนผนังถ้ำที่ 1 ถ้ำที่ 26 ซึ่งภายในมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์แกะสลักขนาดใหญ่และก็ยังมีพระพุทธรูปท่านั่งประทับบนบัลลังก์ที่ประดิษฐานด้านหน้าองค์กลุ่มถ้ำเอลโลร่า

มรดกโลกชิ้นต่อมาก็คือ กลุ่มถ้ำเอลโลร่า (Ellora Caves) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO ในปีเดียวกันกับอชันตะ โดยตั้งอยู่ในเทือกเขาจรนันทรี (the Charanandri Hills) ห่างจากตัวนครออรังกาบาดไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 30 กิโลเมตร กลุ่มถ้ำเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในภาษามราฐีท้องถิ่นว่า ถ้ำเวรุล เลนี (Verul Leni) สร้างขึ้นในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 ถึง 15 โดยเริ่มในสมัยราชวงศ์ราษฏระกูฏ (the Rashtrakutas) ต่อเนื่องมาถึงสมัยราชวงศ์จลุกยะ (the Calukyas) ประกอบด้วยถ้ำทั้งหมด 34 ถ้ำ เรียงตัวจากเหนือไปใต้เป็นระยะทางรวมกันประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มตามศาสนา ดังนี้กลุ่มแรกสุดคือกลุ่มถ้ำทางพุทธศาสนา ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 12 ถ้ำ สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 ถึง 13 โดยมีชื่อเรียกรวมๆ กันว่า กลุ่มถ้ำวิศวกรรม (Vishvakarma) ทุกถ้ำเป็นวิหาร ยกเว้นถ้ำหมายเลข 10 ที่เป็นอุโบสถ ลักษณะที่น่าสังเกตของถ้ำกลุ่มนี้คือ จะมีขนาดใหญ่โตและมีการตกแต่งที่วิจิตรพิสดารเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเข้าใกล้กลุ่มถ้ำฮินดูที่อยู่ทางเหนือ

ถ้ำกลุ่มนี้ ถ้ำหมายเลข 6 มีลักษณะโดดเด่น คือภายในมีประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์หญิงตารา (Tara) ซึ่งเป็นเทพีแห่งการหลุดพ้นและเชื่อกันว่าสามารถบันดาลให้เกิดความสำเร็จในหน้าที่การงาน และประติมากรรมรูปเทพีมหามยุรี (Mahamayuri) ซึ่งถือสัญลักษณ์แห่งปัญญาและความรู้ และถ้ำที่ 2 ซึ่งเป็นห้องขนาดใหญ่ ค้ำจุนด้วยเสาหินขนาดใหญ่ 12 ต้น และมีประติมากรรมพระพุทธรูปนูนสูงของพระพุทธเจ้าองค์ต่างๆ ที่เคยอุบัติมาแล้ว เรียงรายบนกำแพง และบทผนังทั้ง 2 สองด้านของช่องทางเดินสู่ห้องพระประธานนั้นก็ประดับด้วยรูปสลักนูนสูงพระโพธิสัตว์อโลกิเตศวร (ปัทมปาณี) และพระศรีอาริยเมไตรย์ และก็มีถ้ำที่ 11 และ 12 ที่เจาะหน้าผาเป็นวิหาร 3 ชั้น โดยชั้นบนสุดจะเป็นห้องที่กว้างที่สุดและตกแต่งสวยงามที่สุด ซึ่งในส่วนของถ้ำที่ 11 นั้นจะมีทั้งห้องที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและเทวรูปพระคเณศ กับพระแม่ทุรคา ในขณะที่บนผนังห้องประดิษฐานพระประธานของถ้ำที่ 12 จะมีรูปสลักนูนสูงขนาดใหญ่ของพระโพธิสัตว์ 5 พระองค์และขนาบด้วยพระพุทธรูปพระพุทธเจ้า 7 พระองค์

ถ้ำกลุ่มถัดมา คือกลุ่มถ้ำฮินดูซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 13 ถ้ำ โดยเริ่มจากถ้ำที่ 17 จนถึงถ้ำที่ 29 สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 12 ถึง 15 ถ้ำกลุ่มนี้จะตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างกลุ่มถ้ำพุทธและกลุ่มถ้ำเชน บนผนังวิหารฮินดูจะมีภาพสลักนูนสูงและประติมากรรมแผง บอกเล่าเรื่องราวจากปกรณัมฮินดู และส่วนใหญ่จะเป็นถ้ำของไศวะนิกาย และที่เหลือจะเป็นไวษณพนิกาย

ถ้ำที่โดดเด่นที่สุดคือถ้ำหมายเลข 16 หรือวิหารไกรลาศ ซึ่งสร้างขึ้นโดยพระเจ้ากฤษณะที่ 1 แห่งราชวงศ์ราษฏระกูฏ วิหารแห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของเอลโลร่า เพราะมีความวิจิตรงดงามในศิลปะการแกะสลักหินมากที่สุด โดยเกิดจากการแกะสลักภูเขาทั้งลูกให้เป็นรูปทรงคล้ายพระปรางค์ สร้างเลียนแบบเขาไกรลาส มีซุ้มประตูทางเข้า (โคปุระ) สูงสองชั้น ถัดเข้ามาด้านในก็จะเป็นนนทิมณฑปที่ประดิษฐานรูปสลักลอยตัวของโคนนทิ พาหนะของพระศิวะ ถัดมาเข้าอีกเป็นตัววิหารสองชั้น โดยชั้นบนประดิษฐานศิวลึงค์ รอบฐานวิหารหลังที่สองจะล้อมรอบด้วยประติมากรรมนูนสูงรูปช้าง เพื่อให้เกิดจินตนาการประหนึ่งว่าวิหารตั้งอยู่บนหลังของกลุ่มช้างเหล่านี้ รอบตัววิหารไกรลาศก็จะเป็นเวิ้งระเบียงคดรูปตัวยู

ซึ่งบนผนังแกะสลักภาพนูนสูงบอกเล่าวีรกรรมของพระศิวะและทศอวตารของพระวิษณุ และระหว่างเวิ้งระเบียงคดกับตัววิหารจะเป็นลานหินโล่งๆ นอกจากนี้ทางผนังด้านหลังของตัววิหารจะมีประติมากรรมแผงบอกเล่าเนื้อเรื่องจากมหากาพย์รามายณะ ตอนที่ทศกัณฑ์กำลังยกและเขย่าเขาไกรลาศเพื่ออวดอำนาจของตน แต่พระศิวะกลับนิ่งและใช้แค่นิ้วเท้าของพระองค์ประคองเขาทั้งลูกไว้

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มถ้ำเชน ซึ่งได้แก่ถ้ำที่ 30 ถึง 34 ถือเป็นถ้ำกลุ่มที่ถูกสร้างหลังสุด คือ สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 16 โดยศาสนิกชนเชนนิกายทิฆัมพร ซึ่งยังคงนิยมให้นักบวชเปลือยกาย ในขณะที่นิกายเศวตัมพร จะนิยมให้นักบวชนุ่งห่มผ้าคลุมสีขาว ถ้ำเหล่านี้จะไม่ใหญ่โตโอ่อ่าเหมือนกับถ้ำฮินดูและถ้ำพุทธ สะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์พรตนิยม (Asceticism) คือเน้นความมัธยัสถ์อย่างยิ่งยวด แต่อย่างไรก็ตาม ความวิจิตรพิสดารของศิลปกรรมที่ปรากฏอยู่ในถ้ำก็ได้ทรยศขนาดอันมัธยัสถ์ของถ้ำ ดังจะเห็นได้จากที่มีภาพเขียนบนเพดานถ้ำที่มีสีสันสดใสและดูมีชีวิตชีวา แม้ปัจจุบันภาพจะเสียหายไปบ้างตามกาลเวลา หรือลวดลายและภาพสลักตามผนังถ้ำที่มีความละเอียดและพิถีพิถันอย่างมาก

ในบรรดาถ้ำทั้ง 5 ถ้ำของศาสนาเชนนี้ ถ้ำที่เด่นคือ ถ้ำที่ 32 นั้น เรียกว่า อิทรสภา (Indra Sabha) ซึ่งเป็นวิหาร 2 ชั้น โดยชั้นบนนั้นมีภาพสลักสวยงามมากกว่าชั้นล่าง โดยเฉพาะภาพดอกบัวบนเพดานถ้ำที่ยังคงมีร่องรอยของสีที่ฉาบไว้ในอดีต และก็มีเสาขนาดใหญ่ที่มีลวดลายที่ละเอียดงดงามอย่างมาก ห้องใจกลางของวิหารเป็นที่ประดิษฐานรูปสลักของท่านมหาวีระ ศาสดาของศาสนาเชน โดยมีรูปสลักนูนสูงรูปนางยักษีมตังคะ (Matanga) ซึ่งแสดงถึงความมั่งคั่งและสิทธยิกะ (Siddhayika) ซึ่งแสดงถึงความกรุณา ยืนเฝ้าหน้าประตู ภาพสลักทั้งสองโดยเฉพาะภาพแรกนั้นมีลวดลายที่ละเอียดงดงามมาก

ท้ายสุดนี้ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วธ. ได้กล่าวขอบคุณผู้ว่าการรัฐมหาราชฏระ โดยหวังว่า ไทยและอินเดียจะได้มีการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาระหว่างกันทั้งในระดับรัฐ และกับรัฐมหาราชฏระ อย่างมีพลวัตรในอนาคต โดยเฉพาะในปี 2560 นี้ ซึ่งครบรอบ 70 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ นอกเหนือจากการจัดแสดงทางวัฒนธรรม ณ เมืองมุมไบ การแลกเปลี่ยนด้านพิพิธภัณฑ์และโบราณวัตถุ เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกันยิ่งๆ ขึ้นไป

(ที่มาข้อมูลกลุ่มถ้ำ : กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา)

ณ. หนูแก้ว