วธ.หนุนผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ชุมชนคุณธรรมฯทั่วประเทศ ภูมิใจความเป็นไทย พึ่งพาตนเอง มีรายได้-แข่งขันในเวทีโลก

0
1447

นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ปลัดวธ.)  เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และนโยบายรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนามิติด้านวัฒนธรรม โดยการนำทรัพยากรทางวัฒนธรรม มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จัดทำโครงการส่งเสริมชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน และต่อยอดให้ชุมชนคุณธรรมฯต้นแบบทั่วประเทศผลิต ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย  (Cultural Product of Thailand : CPOT)  ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามาจากวัฒนธรรมไทย มีคุณค่า ความหมาย เรื่องราวด้านวัฒนธรรม อันเป็นรากเหง้าที่ได้รับการสืบสาน สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ บ่งบอกอัตลักษณ์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม  1. อาหาร 2. ผลิตภัณฑ์จากผ้า 3. เครื่องประดับ 4. ของใช้ ของตกแต่ง 5. ศิลปะการแสดง ศิลปะการต่อสู้ การละเล่น

ปลัดวธ. กล่าวว่า ล่าสุดได้จัด “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ของชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอพียง เพื่อพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม” โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ มาอบรมให้ความรู้ทั้งทางด้านการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ และแนวโน้มการตลาดสินค้าทางวัฒนธรรมกับชุมชน ผู้ประกอบการ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่สวยงามร่วมสมัย ได้คุณภาพ และตอบโจทย์การใช้งานให้ได้มากที่สุด ซึ่งได้คัดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยจากชุมชนคุณธรรม 62 ชุมชน ที่มีความโดดเด่น ไปร่วมจัดแสดงผลิตภัณฑ์ต้นแบบและจำหน่ายสินค้า ให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดงาน “ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกล ด้วยพระบารมี ” ระหว่างวันที่ 11 – 19 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี ที่ผ่านมา

“จากการนำผลิตภัณฑ์ฯต้นแบบไปจัดแสดงและจำหน่าย อาทิ ผลิตภัณฑ์ดอกไม้เกล็ดปลา ของชุมชนคุณธรรมวัดเขาแก้ว จ.ตรัง , ผลิตภัณฑ์จากเชือกกล้วย ของชุมชนคุณธรรมวัดเจ็ดเสมียน จ.ราชบุรี ,ผลิตภัณฑ์ตะกร้าลายดาว ของชุมชนคุณธรรมบ้านพระธาตุขิงแกง จ.พะเยา และผลิตภัณฑ์ผ้าไหมนาดี ของชุมชนคุณธรรมบ้านนาดี จ.อุดรธานี  ผลปรากฏว่าได้รับผลตอบรับอย่างดี มีประชาชนสนใจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเรื่องราวความเป็นมาของวัสดุเฉพาะถิ่น แนวคิด แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์และขั้นตอนการผลิต ส่งผลให้มียอดการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์กับผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และจากการสอบถามผู้ประกอบการเขารู้สึกดีใจมากที่ชุมชนสามารถมีโอกาสได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และสามารถก้าวข้ามผ่านรูปแบบการผลิตเดิม โดยไม่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเอง รูปแบบสินค้าที่ต่อยอดมาในท้องตลาดทั่วไปอาจไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่นัก แต่สำหรับชุมชนนับเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน การเริ่มต้นใหม่อาจจะยากแต่เมื่อทำสำเร็จแล้วก็เกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีและนับเป็นการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการทำผลิตภัณฑ์ CPOT นั้นอยากให้ทุกชุมชนภูมิใจในความเป็นไทย พึ่งพาตนเองได้ สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ด้วย” ปลัดวธ. กล่าว