วธ. สั่งทุกกรมทำแผนขับเคลื่อนการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 5 เอฟ ปรับปรุงการบริการข้อมูล-ความรู้ จี้ทำแผนบริหาร 5 กองทุนให้มีประสิทธิภาพ

0
918

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) โดยมีผู้บริหารวธ.เข้าร่วมประชุม เมื่อเร็วๆนี้ โดยที่ประชุมมอบหมายให้แต่ละกรมไปจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 5 เอฟ ได้แก่ อาหาร ภาพยนตร์ มวยไทย แฟชั่นและการออกแบบ  เทศกาล และประเพณี  เพื่อให้การเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ช่วยสร้างรายได้สู่ประชาชน ท้องถิ่นและประเทศ เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ มหกรรมอาหารไทย มหกรรมผ้าไทยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น

รมว.วธ. กล่าวอีกว่า ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) และกรมศิลปากร (ศก.) ที่ดูแลรับผิดชอบทั้ง 5 กองทุน ได้แก่ 1.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  2.กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม 3.กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย 4.กองทุนงานจดหมายเหตุ และ 5.กองทุนโบราณคดี ซึ่งเมื่อบุคคลหรือหน่วยงานต่างๆ บริจาคเงินเข้ากองทุนเหล่านี้ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า โดยให้ทุกหน่วยงานไปจัดทำแผนบริหารกองทุนและการประชาสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายวีระ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้รับรายงานจากสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (สป.วธ.) เกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินโครงการ Digital Culture ระยะที่ 1 กิจกรรม : ระบบศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านวัฒนธรรม (M-Culture  Big Data) ตามข้อสั่งการของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้หน่วยงานภาครัฐพัฒนาระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานให้ครอบคลุมภารกิจที่มีอยู่และสามารถเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อทำให้การบริการประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งขณะนี้ได้จัดทำข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานสังกัดวธ.เสร็จแล้วส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตามที่ประชุมกำชับให้ สป.วธ. จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของโครงการสำคัญของ วธ. อาทิ โครงการรุกขมรดกแห่งแผ่นดิน โครงการตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรมและถนนสายวัฒนธรรม โครงการอาหารอร่อยร้าน 100 ปี และข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและอุทยานประวัติศาสตร์ทั่วประเทศ บัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ทุกกรมไปจัดทำแผนปฏิบัติการในการให้บริการข้อมูลและความรู้แก่ประชาชนตามนโยบายรัฐบาล โดยปรับปรุงข้อมูลและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีความทันสมัยประชาชนสามารถเข้ามาค้นคว้าหาข้อมูลได้สะดวกและรวดเร็ว ขณะเดียวกันที่ประชุมได้มอบให้แต่ละกรมไปสรุปผลงานในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อที่วธ. จะได้รวบรวมและสรุปรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากนั้นจะจัดทำเป็นหนังสือเผยแพร่สู่ประชาชนต่อไป