วธ.ร่วมมือกับเครือข่ายศิลปิน จัด “งานวัฒนธรรม ร่วมใจ รวมไทย สร้างชาติ” ฟื้นฟูหลังโควิด-19

0
589

สร้างงาน สร้างรายได้ และให้ความบันเทิงประชาชนทั่วประเทศ เริ่มเดือนกันยายนนี้  ย้ำรูปแบบการจัดงานเน้นความปลอดภัย เว้นระยะห่าง มีระบบป้องกันโควิด-19 ตามที่กระทรวงสาธารณะสุขกำหนด

นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานประชุมหารือเพื่อกำหนดรูปแบบแนวทางการจัดงานมหกรรมวัฒนธรรม ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ โดยมีนายประสพ เรียงเงิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นางขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ ผู้บริหาร วัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้แทนจากสมาคมศิลปะการแสดงในเครือข่ายของกระทรวงวัฒนธรรม อาทิ สมาคมเพลงพื้นบ้านภาคกลางประเทศไทย สมาพันธ์สมาคมโนราแห่งประเทศไทย สมาคมอุปราคมจีน สมาคมกลองและศิลปะล้านนา สมาคมลิเกประเทศไทย สมาคมหมอลำอีสาน สมาคมศิลปินพื้นบ้านอีสานใต้ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุม ๑  ชั้น ๘ กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อเร็วๆ นี้

ปลัด วธ. กล่าวว่า  ขอขอบคุณและชื่นชมที่กลุ่มศิลปินต่างๆ ทุกภูมิภาค แม้ช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ศิลปินก็ตกอยู่ในภาวะวิกฤต ไม่มีการจ้างงาน ขาดรายได้เช่นกัน ก็ยังให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาลและ วธ. ในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในชุมชนเกี่ยวกับการป้องกันเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านเนื้อหาเพลงทุกภูมิภาคทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ  เมื่อขณะนี้สถานการณ์คลี่คลาย ทางนโยบายรัฐบาลให้มีการผ่อนคลาย วธ. จึงมีแนวทางในการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเครือข่ายศิลปินทั่วประเทศ โดย วธ.ร่วมมือกับสมาคมศิลปะการแสดงในเครือข่ายทุกภูมิภาค จัดงานมหกรรมวัฒนธรรม ภายใต้ชื่องานวัฒนธรรม ร่วมใจ รวมไทย สร้างชาติ เน้นเปิดเวทีให้ศิลปินทุกแขนงมาจัดแสดง เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับศาสนา เศรษฐกิจพอเพียงและวิถีวัฒนธรรมไทย

โดยการช่วยเหลือเยียวยาแบ่งเป็น 3 ระยะที่ 1.จัดส่วนกลางที่ลานวัฒนธรรม วธ. ช่วงเดือนกันยายน 2563 เปิดเวทีให้ศิลปินทุกภูมิภาคมาร่วมจัดแสดงให้ประชาชนได้รับฟัง ระยะที่ 2. จัดงานตามภูมิภาคต่างๆ อาทิ จังหวัดสุราษฎร์ธานี น่าน ยโสธร ชลบุรี เป็นต้น โดยให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเป้าหมายเร่งหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ถึงความพร้อมและรูปแบบการจัดงานให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของจังหวัดนั้นๆ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้ศิลปิน และให้ความบันเทิงเยียวยาประชาชน  ระยะที่ 3.ให้ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจัดทำแผนดำเนินการโครงการกิจกรรมเพื่อขอรับการเยียวยาฟื้นฟูในระยะยาวภายใต้งบประมาณ 4 แสนล้านบาทของรัฐบาล ทั้งนี้การทำงานร่วมกันทั้ง 3 ระยะ จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง วธ. และศิลปินไปด้วยกัน แบบช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เป็นเจ้าภาพร่วมกันโดยต้องเน้นความปลอดภัย เว้นระยะห่าง มีระบบป้องกันโควิด-19 ตามที่กระทรวงสาธารณะสุขกำหนด

“สำหรับการเยียวยาศิลปินและเครือข่ายทางวัฒนธรรมต่างๆ ได้รับผลกระทบ กระทรวงวัฒนธรรมได้สำรวจข้อมูลและเสนอต่อรัฐบาลให้มีการเยียวยาศิลปินและเครือข่ายทางวัฒนธรรมแล้ว เพื่อให้ได้รับเงินเยียวยาให้มากที่สุด ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้แทนสมาคมศิลปินต่างๆ ก็ได้รับคำตอบว่าศิลปินได้รับการเยียวยาตามมาตรการต่างๆ เช่น ผู้ประกอบการอาชีพอิสระประกันสังคมหรือครัวเรือนเกษตรกรหรือกลุ่มอื่นๆ ที่รัฐบาลได้มีการเยียวยาไปแล้ว ส่วนกรณีผู้ที่ยังไม่ได้รับการเยียวยากระทรวงวัฒนธรรมได้ประสานกับกระทรวงการคลังเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเยียวยาดังกล่าวต่อไป” ปลัด วธ. กล่าว