วธ.ร่วมกับ 4 หน่วยงาน จัดงานพิธีสมโภชพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ฉบับวาระ 100 ปีชาตกาล อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ

0
1223

เผย เป็นผลงานสำคัญและพระไตรปิฎกย่อฉบับสมบูรณ์ฉบับแรกของโลก เตรียมจัดนิทรรศการเผยแพร่ ระหว่างวันที่ 26 ธ.ค. 2561-12 ม.ค. 2562 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

วันนี้ (21 ธ.ค.2561) เวลา 11.00 น. ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานในการแถลงข่าว งานพิธีสมโภชพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ฉบับวาระ 100 ปี ชาตกาล อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ โดยมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม กรรมการงานสมโภชพระไตรปิฎกฯ สื่อมวลชนและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นายวีระ กล่าวว่า วธ. มีนโยบายใช้มิติทางวัฒนธรรมสร้างคนดี สังคมดีโดยเสริมสร้างค่านิยม อัตลักษณ์และความเป็นไทย โดยปลูกฝังศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรมตามหลักคำสอนทุกศาสนา รวมทั้งค่านิยมและความเป็นไทยผ่านสถาบันทางสังคมทุกระดับ ดังนั้น วธ.ร่วมกับมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิพระไตรปิฎกเพื่อประชาชน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร.) และมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จึงจัดพิธีสมโภชพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ฉบับวาระ 100 ปี ชาตกาล อาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพขึ้น ในวันที่ 26 ธันวาคม 2561 เวลา 14.00 – 16.00 น. ณ อาคาร 100 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร โดยได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อมฺพรมหาเถร) เสด็จเป็นประธานในงานพิธีสมโภชพระไตรปิฎกฯ ทั้งนี้ ภายในงานดังกล่าว มีนิทรรศการประวัติและผลงานของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ และจัดแสดงหนังสือพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ฉบับวาระ 100 ปี ชาตกาล อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2561 – 12 มกราคม 2562 นอกจากนี้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ณ วัดบวรนิเวศวิหาร อีกด้วย

รมว.วธ. กล่าวอีกว่า หนังสือพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน เป็นผลงานสำคัญของอาจารย์สุชีพ และนับเป็นพระไตรปิฎกย่อฉบับสมบูรณ์ฉบับแรกของโลกด้วย โดยหนังสือพระไตรปิฎกดังกล่าว เป็นการย่อในลักษณะถอดความของพระไตรปิฎกบาลี 45 เล่ม ให้เป็นหนังสือภาษาไทยเพียงเล่มเดียว โดยประมวลไว้ซึ่งเนื้อความหรือสาระของพระไตรปิฎกทั้ง 45 เล่ม อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ด้วยถ้อยคำสำนวนที่คนทั่วไปสามารถอ่านและเข้าใจได้ง่าย ทั้งนี้ คณะกรรมการจัดงานครั้งนี้มีความเห็นว่า ทุกฝ่ายควรจะได้เผยแพร่พระไตรปิฎกฯ ฉบับนี้ให้แพร่หลายไปสู่ประชาชน เพื่อให้เป็นสมบัติของคนไทย ทำให้ได้รับความรู้ในเรื่องพระไตรปิฎกอย่างสะดวกและทั่วถึงตามที่อาจารย์สุชีพได้ตั้งใจไว้ เพื่อความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนาและสันติสุขของชาติ

                   ทั้งนี้ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นผู้มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาและการศึกษาของไทยอย่างมาก เมื่อครั้งยังดำรงอยู่ในสมณเพศได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจนสำเร็จเปรียญธรรม 9 ประโยค และศึกษาภาษาและวิชาการต่างๆ อีกมาก ทำให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง และได้บูรณาการความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมสั่งสอนและเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศในนามว่า “สุชีโวภิกขุ” ทั้งนี้ นับเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่มีชื่อเสียงด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแนวใหม่ทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ อีกทั้งเป็นผู้ริเริ่มการอธิบายพุทธธรรมแนวประยุกต์กับวิชาการสมัยใหม่ ทั้งในรูปแบบของการเทศนา การบรรยาย และนวนิยายอิงหลักธรรม และเป็นกำลังสำคัญผลักดันให้มีการตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกขึ้นในประเทศไทย คือ สภาการศึกษาของมหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เมื่อพ.ศ. 2488 ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และอาจารย์สุชีพได้เป็นเลขาธิการสภาการศึกษาของมหามกุฏราชวิทยาลัยคนแรก ต่อมาเมื่ออาจารย์สุชีพ ลาสิกขาก็ได้ใช้ความรอบรู้ทางพระพุทธศาสนาและวิชาการสมัยใหม่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นคนแรก เป็นรองผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) ซึ่งได้พัฒนามาเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และเป็นที่ปรึกษาองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก รวมทั้งเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายวิชาการทางพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย หน่วยงานราชการ และสถาบันการศึกษาต่างๆ อย่างต่อเนื่องจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต