วธ. รณรงค์สวดมนต์สงกรานต์ รับปีใหม่ไทยทั่วประเทศ พาครอบครัวเข้าวัดสืบสานประเพณีอันงดงาม ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน ปลอดอบายมุข

0
1094

วันนี้ (11 เมษายน 2562) เวลา 18.00 น. ณ ศาลาพระราชศรัทธา วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา เป็นประธานแทนใน “พิธีเจริญพระพุทธมนต์ เสริมสิริมงคลรับปีใหม่ไทย เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๒” โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) องค์กรเครือข่าย และประชาชนทั่วไป เข้าร่วม

นายกฤษศญพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา มีมติรับทราบ แนวทางการรณรงค์สืบสานประเพณีสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์วิถีไทยใช้น้าคุ้มค่า ทุกชีวาปลอดภัย” โดย วธ. บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 19 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น เพื่อจัดงานประเพณีสงกรานต์ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม การปฏิบัติตามวิถีชีวิตที่ดีงามของประชาชนชาวไทย การรณรงค์ให้จัดกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ คำนึงถึงคุณค่า สาระสำคัญของวัฒนธรรม ประเพณี และคุณค่าของน้ำ และใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า ที่สำคัญเพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยว สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศเพิ่มมากขึ้น

ปลัด วธ. กล่าวต่อไปว่า ปีนี้ ทางคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปภ.) ได้ขอความร่วมมือ วธ. จัดสวดมนต์ เหมือนกับการสวดมนต์ข้ามปี (ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่) ในวัดทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ ควบคู่กับการเฝ้าระวังความปลอดภัย ดังนั้น วธ.โดยกรมการศาสนา(ศน.) จึงได้บูรณาการและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และวัดทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จัดกิจกรรมในมิติศาสนาตามความเหมาะสมของแต่ละวัดและพื้นที่ โดยในส่วนกลาง วธ. ร่วมกับวัดปทุมวนาราม จัด “พิธีเจริญพระพุทธมนต์ เสริมสิริมงคลรับปีใหม่ไทย เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๒” นำมิติทางพระพุทธศาสนามาพัฒนำจิตใจให้เกิดความสุข สงบ ร่มเย็น ส่งเสริมพุทธศาสนิกชนเข้าวัดปฏิบัติธรรม สวดมนต์ ไหว้พระ รักษาศีล เจริญจิตภาวนา ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม พาครอบครัวเข้าวัด เน้นนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาเป็นแนวทางดำเนินชีวิตให้เกิดความสงบสุข ร่มเย็น ปลอดจากอบายมุข และเพื่อรักษาวัฒนธรรมประเพณีในมิติทางพระพุทธศาสนา ให้เป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่สังคมไทย

ทั้งนี้ “วันสงกรานต์” ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ หรือที่เรียกว่าประเพณีตรุษสงกรานต์ เป็นประเพณีที่งดงามอ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างเด่นชัด โดยใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้ “น้ำ” เป็นตัวแทนแก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่นและขอพรจากบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย รวมทั้งแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วซึ่งเป็นกิจกรรมที่คนไทย ได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญ ทำทาน การอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำ และการละเล่นรื่นเริงต่างๆ ล้วนทำให้ชาวไทยส่วนใหญ่ยังถือประเพณีสงกรานต์เป็นปีใหม่แบบไทยๆ โดยถือเอาวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปีเป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เมษายนของทุกปีเป็นวันเนา (วันกลาง) และวันที่ ๑๕ เมษายนของทุกปีเป็นวันสุดท้ายเรียกว่า “วันเถลิงศก”

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,