วธ.ผุดศูนย์ข้อมูลด้านวัฒนธรรม “บิ๊กดาต้า” (M-Culture Big Data) ให้บริการนักเรียน นักศึกษาและประชาชนเข้าค้นคว้าผ่านเว็บไซต์ของแต่ละกรม

0
1489

กรมศิลปากรจัดทำข้อมูล “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเสมือนจริง” 39 แห่ง ชมโบราณวัตถุ 500 ชิ้น สวธ.จัดทำอีบุ๊คกว่า 3,000 รายการ ฐานข้อมูลมรดกภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้กว่า 300 รายการ

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่สำคัญตามนโยบายกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ โดยที่ประชุมได้รับรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการ Digital Culture ระยะที่ 1 กิจกรรม:ระบบศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านวัฒนธรรม (M-Culture Big Data) ตามนโยบายพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้หน่วยงานภาครัฐพัฒนาระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานให้ครอบคลุมภารกิจที่มีอยู่ และสามารถเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงาน  เพื่อทำให้การบริการประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งที่ประชุมได้รับรายงานคืบหน้าการดำเนินการดังกล่าวโดยเบื้องต้นในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (สป.วธ.) รวบรวมข้อมูลแล้ว 13 เรื่อง กรมการศาสนา 12 เรื่อง กรมศิลปากร 23 เรื่อง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม 10 เรื่อง สำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย 5 เรื่อง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 3 เรื่อง ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) 16 เรื่อง หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) 2 เรื่อง และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) 6 เรื่อง

รมว.วธ. กล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลด้านวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นที่แต่ละกรมจัดทำแล้วเสร็จ ซึ่งวธ.ได้เริ่มเปิดให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชน เข้ามาค้นคว้าหาความรู้แล้วผ่านเว็บไซต์ของแต่ละกรม อาทิ 1.กรมศิลปากร จัดทำข้อมูลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเสมือนจริง (Virtual Museum) จำนวน 39 แห่ง โดยแต่ละแห่งสามารถเข้าชมห้องจัดแสดงได้เสมือนจริง รวมทั้งสามารถชมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นสำคัญในรูปแบบหมุนได้ 360 องศา รวมทั้งหมดประมาณ 500 ชิ้น โดยเข้าชมได้ที่เว็บไซต์ www.virtualmuseum.finearts.go.th

2.กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดทำหนังสือด้านวัฒนธรรมในรูปแบบอีบุ๊คกว่า 3,000 รายการ โดยดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ http://book.culture.go.th/ และฐานข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (ICH) กว่า 300 รายการ ที่เว็บไซต์ http://ich.culture.go.th/ 3.สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จัดทำศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม 76 จังหวัด ที่เว็บไซต์ http://www.m-culture.in.th/ และฐานข้อมูลชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 76 จังหวัด มีกว่า 20,000 รายการ ที่เว็บไซต์ http://www.thaiculture.go.th/web/moraldb.php

4.หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จัดทำเว็บไซต์ http://www.fapot.org/th/home.php ที่สามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์ โดยเข้าไปที่หัวข้อสืบค้นห้องสมุดที่มีข้อมูลวีดิทัศน์ภาพยนตร์กว่า 15,000 รายการ และหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์กว่า 7,000 รายการ รวมทั้งหมดกว่า 22,000 รายการ 5.กรมการศาสนา จัดทำข้อมูลเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกลางด้านศาสนา ข้อมูลด้านศาสนสถาน 5 ศาสนา และหนังสือด้านศาสนาในรูปแบบอีบุ๊ค โดยดาวน์โหลดได้ที่ http://e-service.dra.go.th 6.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)จัดทำข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยที่เว็บไซต์ http://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups

นายวีระ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้ให้สป.วธ.ร่วมมือกับแต่ละกรมเร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม อาทิ ความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรมและศาสนากับต่างประเทศ กิจกรรมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและศาสนาในต่างประเทศ งานวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ที่โดดเด่นในต่างประเทศ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลด้านศิลปวัฒนธรรมกับหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ และปรับปรุงสถานะข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เพื่อกำหนดโครงสร้าง จัดทำศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านวัฒนธรรมและจัดหมวดหมู่ข้อมูลตามภารกิจของกรมให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และเข้ามาค้นคว้าหาความรู้ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงเชื่อมโยงกับศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านวัฒนธรรมของวธ. และกระทรวงอื่นๆ ทั้งนี้ ที่ประชุมให้แต่ละกรมนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมภายในเดือน พ.ย.นี้