วธ.ประกาศ 8 สวจ.ดีเด่น ปี 2564 ผลงานเยี่ยม มุ่งเน้นสืบสาน รักษา ต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมและปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยหลักธรรมาภิบาล สร้างรายได้สู่ชุมชน-ประเทศ

0
266

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ลงนามในประกาศกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เรื่องผลการคัดเลือกสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) ดีเด่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามที่ วธ. เสนอ จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ สวจ.เชียงราย สวจ.พังงา สวจ.สุราษฎร์ธานี สวจ.กาฬสินธุ์ สวจ.แพร่ สวจ.บุรีรัมย์ สวจ.นครนายกและสวจ.หนองบัวลำภู เพื่อเป็นการยกช่องเชิดชูเกียรติ สวจ. ที่มีความโดดเด่นและความสามารถในการบริหารจัดการองค์กร การแปลงนโยบายของรัฐบาล และของกระทรวงวัฒนธรรมไปสู่การปฏิบัติ การดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายทางวัฒนธรรม และการให้บริการประชาชน รวมไปถึงเพื่อสร้าง ขวัญกำลังใจ เสริมแรงจูงใจ ในการปฏิบัติงานของบุคลากรในสำนักงานวัฒนธรรมจังวัด และประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานของ สวจ. ที่มีผลงานดีเด่นด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ขอแสดงความยินดีกับ สวจ. ดีเด่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของ สวจ. ถือเป็นบุคคลสำคัญในการเข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและวธ.ได้อย่างเป็นรูปธรรม และขอให้ทุกคนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมให้มีการรักษา สืบทอดและพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการนำนโยบายหลักของวธ. 4 ประการคือ “สืบสาน รักษา ต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมและปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยหลักธรรมาภิบาล” มาเป็นหลักในการปฏิบัติงาน รวมทั้งขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน ชุมชนและเครือข่ายทางวัฒนธรรมเพื่อนำวัฒนธรรมมาสร้างคนดี สังคมดี พร้อมกันนี้ สวจ.ทั่วประเทศร่วมกันส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ช่วยสร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญขอให้ สวจ.ทั่วประเทศ มุ่งพัฒนากลไกและยกระดับการบริหารจัดการงานวัฒนธรรม รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีความรอบรู้ ความทันสมัยเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของวัฒนธรรม มีส่วนร่วมอนุรักษ์และพัฒนามรดกวัฒนธรรมไทย และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทยตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพของไทยหรือ 5 F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และการอนุรักษ์และขับเคลื่อน เทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก(Festival) โดยนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและบริการ (Creative Culture) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และบริการทางวัฒนธรรมผ่านกิจกรรม โครงการต่างๆ อาทิ งานเทศกาลประเพณีต่างๆทั้งด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ชุมชนยลวิถี ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เริ่มคลี่คลาย