วธ.นำคณะทูตกว่า 65 ประเทศ เข้าชมโรงราชรถ-พระเมรุมาศ

0
1521

ร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ สร้างความเข้าใจโบราณราชประเพณี-มรดกวัฒนธรรมล้ำค่าของไทย เผยแพร่สู่นานาชาติ

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 ที่ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานในการต้อนรับคณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ เยี่ยมชมการจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ ราชรถและพระยานมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ โรงราชรถและพระยานมาศ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และเข้าชมพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง โดยมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ม.ร.ว.จักรรถจิตรพงศ์ อดีตปลัดวธ. น.ส.สาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ที่ปรึกษาวธ. น.ส.ศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ชำนาญการ กรมศิลปากร และนายวุฒินันท์ จินศิริวานิชย์ มัณฑนากรชำนาญ กรมศิลปากร เป็นวิทยากรบรรยาย

นายวีระ กล่าวว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ยังความเศร้าสลดมาสู่ประชาชนชาวไทยทั้งแผ่นดิน และรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ดำเนินการเกี่ยวกับพระราชพิธีพระบรมศพในส่วนพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ได้แก่ การสร้างพระเมรุมาศ การบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ พระยานมาศ และจัดทำเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุดแด่พระมหากษัตริย์ รวมทั้งสืบทอดโบราณราชประเพณีที่สำคัญเป็นงานมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่ายิ่งของชาติ

รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.ได้เชิญคณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆกว่า 65 ประเทศ อาทิ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ บาห์เรน รวมกว่า 170 คน เข้าร่วมรับฟังการบรรยายความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิ และเข้าชมการจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ ราชรถและพระยานมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ เพื่อร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ และเรียนรู้ขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีและพระราชพิธีครั้งประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งเป็นการสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อสร้างพระเมรุและโบราณราชประเพณีของไทยอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าของไทยที่มีการสืบทอดและอนุรักษ์ไว้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อจะได้นำความรู้เหล่านี้ไปเผยแพร่สู่ระดับนานาชาติต่อไป