วธ.ช่วยเหลือศิลปินพื้นบ้านและเครือข่ายวัฒนธรรม-ชุมชนคุณธรรม ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ให้กำลังใจ-สร้างงาน-สร้างรายได้

0
542

จัดมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไทย” 4 ภูมิภาคช่วงมี.ค.-พ.ค.นี้  ประเดิมที่นครราชสีมา 23-29 มี.ค.64

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ลานโอเปร่า อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายนายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไทย” พร้อมเยี่ยมชมบูธจัดแสดงสาธิตและจำหน่ายสินค้าCPOTและสินค้าทางวัฒนธรรมของชุมชนคุณธรรมฯในจังหวัดต่างๆ โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายกฤษฎา คงคะจันทร์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นางโชติกา อัครกิจโสภากุล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัด ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานรัฐจัดทำแผนปฏิบัติการสร้างงาน  สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน ชุมชนและประเทศ ซึ่งในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) มุ่งสร้างขวัญและกำลังใจ และส่งเสริมให้ศิลปินพื้นบ้าน ผู้ประกอบการด้านศิลปวัฒนธรรม ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและเครือข่ายทางวัฒนธรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีพื้นที่ในการแสดงและจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมผ่านโครงการมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไทย” ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ช่วยลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งเป็นการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ “BCG” ในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโดยเฉพาะการส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ได้แก่ สินค้าและบริการทางวัฒนธรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand:CPOT) และสินค้าทางวัฒนธรรมของชุมชนคุณธรรม น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวรในจังหวัดต่างๆ

นายปรเมศวร์  กล่าวอีกว่า  โครงการมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชา “วิถีถิ่น วิถีไทย” จัดขึ้นทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จ.นครราชสีมา จัดงานวันที่ 23-29 มีนาคมนี้ ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี สวนเมืองทองและสนามหน้าศาลากลางจ.นครราชสีมา มีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น  การแสดงเพลงโคราช ลิเกโคราช หมอลำโคราช หมอลำพื้นบ้าน หมอลำกลอนประยุกต์ เช่น คณะไพบูลย์ เสียงทอง จ.มหาสารคาม หมอลำเพลินประยุกต์ เช่น คณะลูกพระธาตุ สิทธินาถ มงคลชัย จ.นครพนม คณะราตรี ศรีวิไล จ.ขอนแก่น หมอลำ เช่น คณะเสียงอิสาน(นกน้อย อุไรพร)  ศิลปินดอกฟ้า เพชรภูพาน หมอลำพื้นบ้าน เช่น คณะไหมไทย หัวใจศิลป์ จ.กาฬสินธุ์ คณะอรสา แสงเพชร จ.ยโสธร ลำผญามุกดาหาร การแสดงหมอศิลป์อมรสุรินทร์ จ.สุรินทร์ การแสดงรวมศาสตร์ศิลป์ ถิ่นอีสาน วงผกาลำดวน จ.ศรีสะเกษ ภาคกลางและภาคตะวันออกที่จ.พระนครศรีอยุธยา จัดงานวันที่ 1-4 เมษายนนี้ ณ สนามวัดพระราม (หลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา) มีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น  ลิเก งิ้ว ลำตัด เพลงเรือ เพลงอีแซว ละครชาตรี วงดนตรีลูกทุ่ง/รำวงย้อนยุค

ภาคใต้ที่จ.นครศรีธรรมราช จัดงานวันที่ 7-9 พฤษภาคมนี้ ณ สนามหน้าเมือง อ.เมืองนครศรีธรรมราช มีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น การแสดงโนรา หนังตะลุง ลิเกฮูลู เพลงบอกและลิเกป่า ภาคเหนือที่จ.เชียงราย  จัดงานวันที่ 10-14  พฤษภาคมนี้ ณ สวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติ 75 พรรษา เทศบาลนครเชียงราย  มีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น การแสดงขับซอล้านนา สะล้อ ซอ ซึง ทั้งนี้ แต่ละพื้นที่ที่จัดงานมีบูธจำหน่ายสินค้า CPOTและสินค้าทางวัฒนธรรมของชุมชนคุณธรรมฯในจังหวัดต่างๆด้วย  ขณะที่ส่วนกลางที่กรุงเทพฯคาดว่า จะจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้

อย่างไรก็ตาม วธ.ได้กำชับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทุกแห่งที่เป็นพื้นที่จัดงานให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765