วธ.-จ.สุโขทัย อัญเชิญพระประทีปพระราชทานลอยเป็นปฐมฤกษ์ สืบสานงานประเพณีลอยกระทง ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

0
1942

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชทานพระประทีป เพื่ออัญเชิญลงลอยเป็นปฐมฤกษ์ ในงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ประจำปี 2562 ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เวลา 23.00 น. นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีอัญเชิญพระประทีปลงลอยเป็นปฐมฤกษ์งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ประจำปี  2562 ณ บริเวณสระน้ำวัดสระศรี (ตระพังตระกวน) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย โดยมีนายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย นายอมร กิติกวางทอง วัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย พร้อมด้วยผู้บริหารส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจำนวนมากร่วมในพิธี

งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ประจำปี  2562 จังหวัดสุโขทัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ พระราชทานพระประทีป รวมทั้งสิ้น 12 พระองค์ เพื่ออัญเชิญลงลอยเป็นปฐมฤกษ์ ณ บริเวณสระน้ำวัดสระศรี (ตระพังตระกวน) ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวจังหวัดสุโขทัยตลอดมา

จังหวัดสุโขทัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย ร่วมกับ องค์กรภาคีเครือข่ายด้านวัฒนธรรมในจังหวัดสุโขทัย ส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน และประชาชนชาวจังหวัดสุโขทัย กำหนดจัดงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 2 – 11 พฤศจิกายน 2562 รวม 10 วัน 10 คืน ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เพื่อเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาติไทยให้คงอยู่ตลอดไป เพื่อเป็นการสักการะพระแม่คงคา ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดการจัดงานประเพณีลอยกระทงของชาติไทย ในรูปแบบโบราณประเพณีที่เป็นอัตลักษณ์ของเมืองสุโขทัย เป็นการส่งเสริมงานเทศกาลประเพณีให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายระดับนานาชาติ อันเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมตามนโยบายของรัฐบาล

งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ปีนี้จัดให้มีกิจกรรมที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวสุโขทัย ที่ได้กล่าวขานในหลักศิลาจารึก อาทิ พิธีรับรุ่งอรุณแห่งความสุข พิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์สุโขทัยทุกพระองค์ การเทศน์มหาชาติ การประกวดกระทงใหญ่ กระทงเล็ก โคมชัก โคมแขวน พนมหมาก และพนมดอกไม้  นอกจากนี้ยังมีการแสดงดนตรีไทย การจัดกิจกรรมข้าวขวัญวันเล่นไฟ การแสดงประกอบแสง-เสียง พิธีเผาเทียน การประกวดนางนพมาศ ขบวนแห่กระทงเล็ก โคมชัก โคมแขวน พนมหมาก พนมดอกไม้ และกระทงใหญ่ ขบวนแห่ประเพณีวัฒนธรรม 9 อำเภอ ขบวนแห่งนางนพมาศ พิธีอัญเชิญไฟพระฤกษ์ และพระประทีป

การแสดงตำนานท้าวศรีจุฬาลักษณ์ และการแสดงพลุ ตะไล ไฟพะเนียง ทั้งนี้ ภายในงานฯ มีการรณรงค์งดจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ลดการใช้โฟมและถุงพลาสติกด้วย

ประเพณีลอยกระทงนั้น ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า “พิธีจองเปรียญ” หรือ “การลอยพระประทีป” และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่า “เป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย” ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน

ในสมัยก่อนนั้นพิธีลอยกระทงจะเป็นการลอยโคม โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสันนิษฐานว่า พิธีลอยกระทงเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า

ก่อนที่นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วงจะคิดค้นประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม ดังปรากฏในหนังสือนางนพมาศที่ว่า “ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกสรสีต่างๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย…”

ประเพณีลอยกระทงมีการสืบต่อกันเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนขุนนางนิยมประดิษฐ์กระทงใหญ่เพื่อประกวดประชันกัน ซึ่งต้องใช้แรงคนและเงินจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่แข่งขัน และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือลอยประทีปถวายองค์ละลำแทนกระทงใหญ่ และเรียกชื่อว่า “เรือลอยประทีป” ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ปัจจุบันการลอยพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย

เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯ ทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และให้จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยให้ใช้กระทงดอกบัวแทนโคมลอย ดังพระราชดำรัสที่ว่า “ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน” พิธีลอยกระทงจึงเปลี่ยนรูปแบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา