ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา “นายเงี๊ยบ” เปิดศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เพาะถั่วงอกปลอดสารพิษ ตามรอยพระราชปณิธานในหลวง รัชกาลที่ 9

0
1175

 

นายสมชาติ สาลีพัฒนา หรือนายเงี๊ยบ ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบสาขาบางขุนนนท์ และ สาขาพุทธมณฑลสาย 4 เปิดเผยว่า ล่าสุดทางร้านได้เปิดศูนย์การเรียนรู้ เพาะถั่วงอกปลอดสารพิษ ยิ่งเป็นถั่วงอกที่ “ร้านนายเงี๊ยบ” เพาะเอง จะมีความกรอบเเบบธรรมชาติสูตรออเเกนิค ลองใส่ในเมนูไหนของก๋วยเตี๋ยวก็ย่อมเกิดรสชาติที่อร่อยตามธรรมอย่างแท้จริง

โดยทางร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบสาขาพุทธมณฑลสาย 4 ได้กำหนดพื้นที่ด้านข้างบริเวณร้านทำเป็นโรงเพาะถั่วงอก และจัดตั้งเป็นสถานที่โครงการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง  ตามรอยพระราชปณิธาน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้อยู่อย่างเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ทางร้านภูมิใจทำเพื่อลูกค้าผู้มีอุปการคุณ ที่มาอุดหนุนร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบทุกท่าน เพื่อได้ร่วมกันทำความดีสืบต่อไป โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชดำรัสแก่ปวงชนชาวไทยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา และถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ อีกด้วย

นายสมชาติ สาลีพัฒนา หรือนายเงี๊ยบ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญก็คือ ความพอเพียงในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่ทำให้คนไทยสามารถพึ่งตนเอง และดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีศักดิ์ศรีภายใต้อำนาจและความมีอิสระในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ความสามารถในการควบคุมและจัดการเพื่อให้ตนเองได้รับการสนองตอบต่อความต้องการต่างๆ รวมทั้งความสามารถในการจัดการปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นศักยภาพพื้นฐานที่คนไทยและสังคมไทยเคยมีอยู่แต่เดิม ต้องถูกกระทบกระเทือน ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจจากปัญหาฟองสบู่และปัญหาความอ่อนแอของชนบท รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนแต่เป็นข้อพิสูจน์และยืนยันปรากฏการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี

ฉะนั้น ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบ จึงเปิดศูนย์การเรียนรู้ เพาะถั่วงอกปลอดสารพิษ ตามรอยพระราชปณิธาน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้อยู่อย่างเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นอีกหนึ่งโครงการ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้มาดูงานและสามารถกลับไปทำเองที่บ้านเพื่อบริโภคในครัวเรือน หรือนำไปขาย ยึดเป็นอีกหนึ่งอาชีพเสริมได้เช่นกัน และที่สำคัญร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบ เป็นร้านเก่าแก่สำหรับผู้ที่ชอบรับประทานลูกชิ้นปลา และเกี๊ยวปลา โดยผลิตจากเนื้อปลาทั้งหมด 3 ชนิด คือ เนื้อปลาอินทรี (เบกา), เนื้อปลาหางเหลือง (เจี่ยะโส่ย), และเนื้อปลาดาบลาว (ไซตอ) ผลิตแบบสดๆ ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใส่ผงชูรส ปั้นลูกชิ้นด้วยมือ ไม่ใช้เครื่องจักร ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า ลูกชิ้นปลา และ เกี๊ยวปลา จะสด สะอาด ปลอดภัย ผลิตทุกวัน ไม่ผลิตค้างไว้ เพื่อความใหม่และสด จึงทำให้ได้ลูกชิ้นปลาที่หวานกรอบ เนื้อแน่น อร่อยนุ่ม

สำหรับประวัติความเป็นมา “ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบ” มีจุดเริ่มต้นมาจาก นายสมชาติ สาลีพัฒนา หรือนายเงี๊ยบ ในอดีตกิจการของครอบครัวเปิดร้านขายของชำ นายเงี๊ยบทำงานช่วยพ่อแม่ขายของชำที่ร้านตั้งแต่เด็ก ร้านตั้งอยู่ในตลาดเจ้าพ่อเสือ แถวนั้นเป็นแหล่งผลิตลูกชิ้นปลาของกรุงเทพฯ และที่สำคัญนายเงี๊ยบเป็นคนชอบรับประทานลูกชิ้นปลา พอตกดึกก็ต้องออกไปหาลูกชิ้นปลาทานเป็นประจำ ใครว่าที่ไหนอร่อย ก็จะไปทุกร้าน จึงไม่แปลกที่นายเงี๊ยบสามารถบอกได้ว่า ลูกชิ้นปลาแบบไหนอร่อย แบบไหนไม่อร่อย เนื่องเพราะทานมาแล้วทุกร้าน

จากนั้นต่อมานายเงี๊ยบ มีความคิดอยากจะทำลูกชิ้นปลาเป็นบ้าง จะได้อร่อยถูกใจ เผอิญมีผู้ใจบุญท่านหนึ่ง ได้ชี้แนะการทำลูกชิ้นปลาให้กับนายเงี๊ยบ นายเงี๊ยบจึงได้นำมาปรับปรุงสูตร และรสชาติให้อร่อยสมใจ ไม่เสียชื่อนักกินลูกชิ้นปลา จึงได้เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา และตั้งชื่อร้านว่า “นายเงี๊ยบ” และนี่คือจุดเริ่มต้น “ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบ”

ร้านที่แรกตั้ง ณ ศาลเจ้าพ่อเสือ เมื่อปีพ.ศ. 2515 ซึ่งความอร่อย และคุณภาพของลูกชิ้นปลา ทำให้มีลูกค้ามากมาย นับวันลูกค้าเริ่มมากขึ้น ทำให้ร้านที่ศาลเจ้าพ่อเสือมีพื้นที่ไม่เพียงพอให้บริการลูกค้า นายเงี๊ยบตัดสินใจย้ายร้านมาเปิดที่ใหม่ ที่บางขุนนนท์ เมื่อปี 2519 ซึ่งปรากฏมีลูกค้ามากมายแวะเวียนมาทานก๋วยเตี๋ยวแน่นขนัดมิขาดสาย จากนั้นนายเงี๊ยบตัดสินใจขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 1 สาขา คือที่สาขาพุทธมณฑลสาย 4 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2527 จวบจนทุกวันนี้

ที่ผ่านมานายเงี๊ยบ เน้นช่วยงานสาธารณสงเคราะห์มาโดยตลอด อาทิ ให้ทุนการศึกษา สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล มอบอุปกรณ์การแพทย์ ช่วยเหลือผู้ยากไร้ สร้างถาวรวัตถุในบวรพระพุทธศาสนา และล่าสุดสร้างศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง  จัดสรรพื้นที่ทำเป็นโรงเพาะถั่วงอก ตามรอยพระราชปณิธาน ในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างแท้จริง

วีรพล จ้อยทองมูล รายงาน

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,