ร้อง “บิ๊กตู่” ถอนร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมครอบครัวฯ ชี้กระทบคุ้มครองความปลอดภัย เสี่ยงรุนแรงซ้ำซ้อน ส่อขัดรธน. ม.128 เหตุไร้เงาองค์กรเด็ก สตรี เครือข่ายครอบครัว

0
1114

BREAKING NEWS / วันนี้ (7ก.พ.2562) เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายบัณฑิต  แป้นวิเศษ หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนโยบายผู้หญิง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยคณะทำงานเครือข่ายคัดค้านร่างพรบ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. … ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิพิทักษ์สตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิชุมชนไทย มูลนิธิส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ชมรมแม่หญิงจังหวัดบุรีรัมย์ และเครือข่ายสตรี 4 ภาค เดินทางมายื่นจดหมาย ข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะ เพื่อถอนร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ….. ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)

นายบัณฑิต  กล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พรบ.ฯ ดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แม้จะมีการคัดค้านประท้วงร่าง พรบ.ฯ ดังกล่าวจากภาคีเครือข่ายครอบครัว เด็ก และสตรี ตั้งแต่ปี 2558 แล้วก็ตาม จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี โปรดส่งข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาถอนร่าง พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. … ด้วยเหตุผลที่ร่าง พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ…..นี้ จะมีผลยกเลิก พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 จะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการคุ้มครอง สวัสดิภาพความปลอดภัยของเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ คนพิการในครอบครัว และมีปัญหาในการปฏิบัติงาน

นายบัณฑิต  ระบุว่า เนื่องด้วยเหตุที่ร่าง กม.ใหม่นี้ มีบทบัญญัติ ยกเลิก กฎหมายปัจจุบันคือ พรบ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วนความรุนแรงในครอบครัว ที่ตราขึ้นเพื่อบัญญัติให้การกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดอาญาที่รัฐต้องยื่นมือเข้าแทรกแซง เพื่อคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเป็นสำคัญ และบำบัดฟื้นฟูแก้ไขผู้กระทำ  ซึ่งตราขึ้นและบังคับใช้มานานถึง 11 ปีแล้ว แต่ปรากฎว่าร่าง พรบ. สถาบันครอบครัว ไม่เน้นการคุ้มครองผู้ถูกกระทำ  แต่เน้นคุ้มครองสถาบันครอบครัว ซึ่งข้อเท็จจริงของการเกิดการกระทำความรุนแรงในครอบครัวเกิดได้ในหลากหลายสถานะและความสัมพันธ์ ไม่จำกัดเฉพาะ พ่อ แม่ ลูก

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า ร่าง พรบ.ฯ ลดทอนบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมของ จนท. ตำรวจและอัยการ  แต่ไปเน้นและเพิ่มบทบาทของ พมจ. และพนักงานเจ้าหน้าที่ๆ รมว. พม. แต่งตั้ง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงกลไกการคุ้มครองผู้ถูกกระทำที่ใช้มานาน 11 ปี ควรต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งร่าง พรบ. ให้อำนาจการไกล่เกลี่ยและการกำหนดมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพแก่ พมจ. และอธิบดี สค. พม. ซึ่งแต่เดิมเป็นอำนาจของศาล เป็นการเขียนกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานมีอำนาจเหนือพลเมือง  ควรจะได้มีการทบทวนอย่างรอบคอบ

“นิยาม “ความรุนแรงในครอบครัว” เปลี่ยนไป โดยร่าง พรบ. เน้นว่า ผู้กระทำความรุนแรงต้องเป็นบุคคลในครอบครัว ขณะที่ กม. ปัจจุบัน เน้นผู้ถูกกระทำเป็นบุคคลในครอบครัว และ ร่าง พรบ. ระบุว่าการกระทำความรุนแรงว่าต้อง  โดยเจตนา ขณะที่ กม.ปัจจุบันระบุ โดยมุ่งประสงค์ ดังนั้นร่าง พรบ. จะมีปัญหา/ภาระในการพิสูจน์ความผิด หากพิสูจน์ไม่ได้ว่า มีเจตนา ก็ไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวได้  รวมทั้งนิยาม บุคคลในครอบครัว ร่าง พรบ. ตัดคำว่า สมาชิกในครอบครัว ที่มีอยู่ในกฎหมายปัจจุบันออกไป คำว่า สมาชิกในครอบครัว (family members) เป็นคำสากลที่มีปรากฏอยู่ใน  กม.ว่าด้วย domestic violence ในประเทศต่างๆ ซึ่งครอบครัวทุกๆ คนที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส ญาติสืบสายโลหิต หรือ ลุงป้าน้าอา เพื่อน คนทำงานบ้าน ก็เข้าข่ายเป็น สมาชิกในครอบครัว ทั้งหมด” น.ส.ธนวดี ระบุ

นายบัณฑิต  กล่าวด้วยว่า ร่าง พรบ.ฯ ได้กำหนดให้ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว มีอำนาจคุ้มครองเด็กที่เป็นผู้ใช้ความรุนแรง ทั้งๆ ที่เด็กกระทำผิดอยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็ก และให้อำนาจคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่เป็นผู้เสียหาย โดยทั้งสองกรณีไม่มีรายละเอียดว่าจะทำอย่างไรและเกิดความซ้ำซ้อนกับเขตอำนาจของศาลเยาวชนฯในคดีอาญา รวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546

นายบัณฑิต กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากนี้ยังข้อสังเกตเกี่ยวกับการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พรบ.ฯ นี้น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 128 ดังนี้ “โดยในข้อบังคับตามวรรคหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยว่ามีสาระสําคัญเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือคนพิการ หรือทุพพลภาพ ต้องกําหนดให้บุคคลประเภทดังกล่าวหรือผู้แทนองค์กรเอกชนที่ทํางานเกี่ยวกับบุคคลประเภทนั้นโดยตรงร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด และในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอ ต้องกําหนดให้ผู้แทนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเข้าชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญด้วย ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด”

ทั้งนี้ ต้องกําหนดให้บุคคลประเภทดังกล่าวหรือผู้แทนองค์กรเอกชนที่ทํางานเกี่ยวกับบุคคลประเภทนั้นโดยตรง ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไม่ปรากฏมีผู้แทนขององค์กรเด็ก สตรี เครือข่ายครอบครัว ในคณะกรรมาธิการวิสามัญ

“นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตว่า ไม่มี Domestic Violence Act ของประเทศไหนที่บรรจุประเด็นการพัฒนาครอบครัวไว้ในกฎหมาย เพราะการพัฒนาครอบครัวเป็นมาตรการทางการบริหารทางสังคมและทางการศึกษาไม่ต้องใช้อำนาจทางกฎหมายแต่อย่างใด” นายบัณฑิต กล่าว