รมว.วธ. มอบสวธ. – ศก. ส่งเสริมการอ่านตามข้อสั่งการนายกฯ หวังกระตุ้นเด็ก เยาวชน ประชาชน อ่านหนังสือ – ใช้บริการหอสมุดสาธารณะเพิ่มขึ้น

0
567

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการและองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่ ๘/๒๕๖๓ เพื่อพิจารณาข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อเร็วๆนี้ ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) รณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนหันมาอ่านหนังสือและใช้บริการหอสมุดสาธารณะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการส่งเสริมการอ่านถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และสร้างทุนมนุษย์เพื่อให้มีสมรรถนะความสามารถทั้งในด้านการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืน ในส่วนห้องสมุดก็มีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญในด้านการให้ข้อมูลข่าวสาร การศึกษา การวิจัย ศิลปะและวัฒนธรรม แหล่งเรียนรู้ทั้งในระบบ และนอกระบบ เป็นต้น โดยที่ผ่านมาวธ. ได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่านแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง และเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ โดยการปลูกฝังผ่านมิติทางวัฒนธรรม ที่สำคัญยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ ๒๐ ปี ที่กำหนดให้ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) ขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังมอบหมายให้กรมศิลปากร(ศก.) จัดทำแผนรณรงค์เชิญชวนให้เด็ก เยาวชน และประชาชนเข้าใช้บริการหอสมุดแห่งชาติ รวมทั้งให้กรมศิลปากรพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนให้มีประสิทธิภาพและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหอสมุดที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมทั่วประเทศ ๑๒ แห่ง มีทรัพยากรสารสนเทศกว่า ๕.๔ ล้านเล่ม/รายการ อาทิ หนังสือ สิ่งพิมพ์หายาก เอกสารโบราณ และทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล ส่วนหนึ่งได้นำเข้าในฐานข้อมูลของหอสมุดแห่งชาติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้สะดวก รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้ สำนักหอสมุดแห่งชาติได้ปรับปรุงพื้นที่อาคารให้มีความทันสมัย สะดวกสบาย รองรับการใช้งานของผู้ใช้บริการ เอื้ออำนวยในการศึกษาค้นคว้า อีกทั้งมีอารยสถาปัตย์สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านต่างๆ รวมทั้งนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาให้บริการ อาทิ ระบบบรรณารักษ์อัจฉริยะ ใช้แท็บเล็ตช่วยตอบคำถาม ค้นคว้า และช่วยเหลือผู้ใช้บริการ ประตูผ่านเข้าออกอัจฉริยะ บริการการอ่านผ่านแอพพลิเคชั่น NLT Library รวบรวมหนังสือหายากอิเล็กทรอนิกส์ ๑,๐๐๐ รายการ บริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสืบค้นข้อมูลออนไลน์กว่า ๗ พันชื่อเรื่อง มากกว่า ๖๐ ภาษาจาก ๑๕๐ ประเทศทั่วโลก และบริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ที่อ่านและยืมคืนได้ทุกที่ทุกเวลาจากทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า ๖๐๐ ชื่อเรื่อง