รมว.วธ. – คณะสงฆ์วัดโพธิ์ฯ ภาคเอกชน เข้าเฝ้าฯ ถวายคัมภีร์พระมาลัย อักษรขอม (บาลี-ไทยโบราณ) ที่ปริวรรตเสร็จสมบูรณ์ แด่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส

0
1854

พระประมุขสูงสุดแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก องค์ที่ 266 เผย “พระสันตะปาปา” มีสมณพระประสงค์ ปริวรรตคัมภีร์ เพื่อจัดนิทรรศการคัมภีร์โบราณทั่วโลก

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม เวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นนครรัฐวาติกัน สาธารณรัฐอิตาลี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เข้าเฝ้าฯ ถวายคัมภีร์พระมาลัยอักษรขอม (บาลี-ไทยโบราณ) ที่ปริวรรต (แปล) แล้วเสร็จแด่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระประมุขสูงสุดแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก องค์ที่ 266 อย่างเป็นทางการ โดยมีพระราชรัตนสุนทร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ไวยาวัจกรวัดพระเชตุพนฯ พร้อมด้วยคณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ คณะสงฆ์ผู้ปริวรรตคัมภีร์ กระทรวงการต่างประเทศ นายมานัส ทารัตน์ใจ อธิบดีกรมการศาสนา คณะสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย กรรมาธิการแห่งสภาประมุขฯ การเสวนาและความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาต่างๆ และผู้เกี่ยวข้องภาครัฐและเอกชน ร่วมพิธีถวายคัมภีร์ ณ นครรัฐวาติกัน

รมว.วธ. เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่า เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ปี 2559 ที่ผ่านมา มงซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์ คณะกรรมการรองเลขาธิการสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย และผู้ประสานงานกับนครรัฐวาติกัน พร้อมคณะ นำความตามสมณพระประสงค์ในสมเด็จพระสันตปาปาฟรังซิส องค์ที่ 266 ที่ประสงค์จะจัดแสดงคัมภีร์โบราณ ที่ได้รับถวายจากบุคคลสำคัญๆ ทั่วโลก ที่ได้ถวายแด่องค์สมเด็จพระสันตะปาปาทุกๆ พระองค์ที่ผ่านมา เพื่อไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์แห่งนครรัฐวาติกัน โดยพบว่าบรรดาคัมภีร์ดังกล่าวมีคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเล่มหนึ่ง บันทึกด้วยอักษรขอมโบราณ ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์แห่งนครรัฐวาติกัน ไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถอ่าน หรือปริวรรตคัมภีร์ เล่มดังกล่าวได้

ดังนั้น ทางพิพิธภัณฑ์แห่งนครรัฐวาติกัน จึงมอบหมายให้มงซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์และคณะเข้าพบพระเทพวีราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ ปรึกษาหารือและขอความร่วมมือในการปริวรรตคัมภีร์ดังกล่าว ซึ่งพระเทพวีราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ จึงจัดหาผู้เชี่ยวชาญในการปริวรรตคัมภีร์ฉบับนี้ เพื่อถวายแด่องค์สมเด็จพระสันตะปาปา ตามสมณประสงค์และเพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างคริสตจักรกับพระพุทธศาสนา ในเบื้องต้นพิพิธภัณฑ์แห่งนครรัฐวาติกันทราบว่าคัมภีร์ดังกล่าวเป็นคัมภีร์ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ถวายพระสันตะปาปาปิโอที่ 11 เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป ในปีค.ศ. 1934 ซึ่งเป็นคัมภีร์เขียนด้วยอักษรขอม (บาลี-ไทยโบราณ) ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นหนังสือสมุดไทยขาว (สมุดข่อยสีขาว) มีความกว้าง 13 เซนติเมตร ยาว 66 เซนติเมตร มีเนื้อหา 6 ตอน นับจำนวนหน้าสมุดรวมทั้งหมด 186 หน้า ด้านในมีภาพวาดประกอบ สีสันสวยงาม

สำหรับเนื้อหาคัมภีร์ทั้งหมด 6 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 บทสวดอภิธรรม 7 คัมภีร์ ตอนที่ 2-5 เรื่องราวพระมาลัยกลอนสวด เริ่มจากพระมาลัยไปโปรดสัตว์ นรก สวรรค์ สนทนากับพระอินทร์และพบกับ พระโพธิสัตว์ ที่จะมาจุติเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป หรือที่เรียกว่า พระศรีอาริย์ และตอนที่ 6 บทสวดแจงภาษาบาลี (ขึ้นต้นด้วย ยนฺเตน ภควตา ชานตา ปสฺสตา อรหตา…) แต่งด้วยฉันทลักษณ์ที่เรียกว่า “กลอนสวด”ประกอบด้วยกาพย์ชนิดต่างๆ อาทิ กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง กาพย์สุรางคนางค์ ฉันท์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การนำคัมภีร์พระมาลัยถวายแด่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เพื่อแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพอันงดงามที่มีมาอย่างยาวนาน ระหว่างพระพุทธศาสนากับคริสตจักรนิกาโรมันคาทอลิกต่อไป