มหาเถรฯ คุมเข้มจิตรกรรมในวัด ถ้ามีภาพ “บุคคลร่วมสมัย” ต้องขออนุญาต – ตั้งเลขานุการคณะผู้ช่วยสนองงาน

0
913

วันนี้ (20 ส.ค.63) ที่ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร นายวีระ จำลอง รองโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) คนที่ 2 แถลงผลการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) ว่า มส.รับทราบ ตามที่สมเด็จพระวันรัต  (จุนท์ พรหมคุตโต)  เจ้าอาวาสวัดบวรฯ กรรมการมส. ในฐานะประธานคณะผู้ช่วยสนองงานในสมเด็จพระสังฆราช เสนอให้นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.พศ. เป็นเลขานุการ และนายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการพศ. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ คณะผู้ช่วยสนองงานในสมเด็จพระสังฆราช ทั้งนี้สำหรับคณะผู้ช่วยสนองงานในสมเด็จพระสังฆราช มส.ได้มีมติเห็นชอบตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช ลงวันที่ 18 ก.ค. ประกอบด้วย 1.สมเด็จพระวันรัต ประธานคณะสนองงาน 2.สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) คณะสนองงาน 3.สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) คณะสนองงาน 4.สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธิ์ เขมงฺกโร) คณะสนองงาน และ5.สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช)

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เว็บไซต์มหาเถรสมาคม ได้เผยแพร่มติมส. ครั้งที่ 16/2563 เมื่อวันที่  30 ก.ค.2563 เรื่อง การวาดภาพจิตรกรรมหรือภาพศิลปะในพุทธศาสนสถาน ระบุว่าว่า ตามที่ปรากฏข่าวตามสื่อต่าง ๆ กรณีวัดหนองเต่า ต.อุทัยเก่า อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี มีการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธประวัติ ตอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จลงจากเทวโลก หลังจากทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพุทธมารดา โดยในภาพดังกล่าว มีภาพเหมือนบุคคลร่วมสมัย ปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนัง นั้น พศ.พิจารณาแล้วเห็นว่า การวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังอื่น ๆ ที่มีภาพเหมือนของบุคคลร่วมสมัย อันไม่ได้เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ หรือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา อาจสร้างความสับสนหรือกระทบต่อศรัทธาของพุทธศาสนิกชน จึงเห็นควรนำเสนอมส.เพื่อโปรดพิจารณากำหนดวิธีปฏิบัติในเรื่องดังกล่าว

มส.พิจารณาแล้วมีมติกำหนดแนวปฏิบัติ ดังนี้ 1.กรณีวัดใดมีความประสงค์จะวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีภาพเหมือนบุคคลร่วมสมัย หรือภาพศิลปะในลักษณะอื่น ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับพุทธประวัติและประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ตามสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ภายในวัด เช่น อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ หอประชุม หรือศาลาบำเพ็ญกุศล ให้เจ้าอาวาสพิจารณาถึงความเหมาะสมของภาพที่จะวาดให้รอบคอบ 2.ให้เจ้าอาวาสเสนอแบบภาพวาดหรือแบบตัวอย่างภาพร่างวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่มีภาพเหมือนบุคคลร่วมสมัย หรือภาพศิลปะในลักษณะอื่น ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับพุทธประวัติ และประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ให้เจ้าคณะผู้ปกครองตามลำดับจนถึงเจ้าคณะภาคพิจารณา และเมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงจะดำเนินการได้