มหาเถรฯตั้ง “คณะผู้ช่วยสนองงานสมเด็จพระสังฆราช” ยก “สมเด็จพระวันรัต” เป็นประธาน

0
785

พร้อมปรับแก้กฎมส. แต่งตั้ง-ถอดถอนพระสังฆาธิการ ตั้งแต่เจ้าอาวาสพระอารามหลวง เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค เจ้าคณะใหญ่ ต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบ

วันนี้ (30 ก.ค.2563) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)  ได้เผยแพร่แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่มที่ 108 ตอนที่ 7 วันที่ 25 ก.ค.2563 ซึ่งเป็นรายละเอียดของ กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2563) โดยระบุว่า เพื่อให้การแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการเป็นไปตามความในมาตรา 20/2 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 ตรี มาตรา 20/1 วรรคสอง และมาตรา 23 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505และที่แก้ไขเพิ่มเติม มหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 กฎมหาเถรสมาคมนี้เรียกว่า กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสัฆาธิการ แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 (พ.ศ.2563) ข้อ 2. กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 5/1 แห่งกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ โดยระบุว่า ข้อ 5/1 การขอรับพระราชดำริในการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ตามความในมาตรา 20/2 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (พ.ศ.2505) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ปฏิบัติดังนี้ (1)การแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าอาวาสพระอารามหลวง เมื่อได้ดำเนินการตามกฎมหาเถรสมาคมนี้แล้ว ให้เสนอมหาเถรสมาคมพิจารณาทุกกรณี จากนั้นให้สมเด็จพระสังฆราชในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคมเสนอไปยังราชเลขานุการในพระองค์ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เมื่อมีพระราชดำริเป็นประการใดให้มหาเถรสมาคมมีมติให้มีพระบัญชาตั้งหรือตราตั้งแล้วแต่กรณีตามพระราชดำรินั้น แล้วให้เลขาธิการมหาเถรสมาคมรายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป

(2) การถอดถอนจากตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าอาวาสพระอารามหลวง เมื่อได้ดำเนินการตามกฎมหาเถรสมาคมนี้แล้ว ให้เสนอมหาเถรสมาคมพิจารณาทุกกรณี จากนั้นให้สมเด็จพระสังฆราชในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคมเสนอไปยังราชเลขานุการในพระองค์ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เมื่อมีพระราชดำริเป็นประการใด ให้มหาเถรสมาคม มีมติเห็นชอบโดยอนุวัตตามพระราชดำรินั้น แล้วจึงจะดำเนินการต่อไปได้ และให้เลขาธิการมหาเถรสมาคมรายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป (3) การแต่งตั้งและถอดถอนพระสังฆาธิการอื่นนอกจาก (1) และ (2)ให้ดำเนินการไปตามกฎมหาเถรสมาคมนี้ แต่ถ้ามีพระราชดำริเป็นประการใด ให้ผู้ได้รับพระราชทานกระแสพระราชดำริ นำความกราบทูลหรือแจ้งผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนให้ดำเนินการอนุวัตตามพระราชดำรินั้น (4) การแต่งตั้งพระสังฆาธิการตาม (1) กรณีครบวาระพร้อมกันให้ดำเนินการตามลำดับศักดิ์ของตำแหน่งพระสังฆาธิการจากสูงลงมาต่ำ ความในข้อนี้ไม่กระทบถึงการที่จะมีพระราชดำริเป็นประการอื่นในทุกกรณี

นอกจากนี้พศ.ยังได้มีการเผยแพร่ มติมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 21 ก.ค. เรื่อง แต่งตั้งคณะผู้ช่วยสนองงานในสมเด็จพระสังฆราช โดยระบุว่า สมเด็จพระสังฆราช ได้มีพระลิขิต ลงวันที่ 18 ก.ค. แจ้งว่า เพื่อให้การปฏิบัติ บริหารศาสนกิจ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รอบคอบ และบังเกิดสัมฤทธิผล อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 จึงแต่งตั้งคณะผู้ช่วยสนองงานในสมเด็จพระสังฆราช ดังนี้ 1.สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ประธานคณะสนองงาน 2.สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) คณะสนองงาน 3.สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) คณะสนองงาน 4.สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธิ์ เขมงฺกโร) คณะสนองงาน 5. สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) คณะสนองงาน มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1.กลั่นกรอง พิจารณา ถวายความเห็นตามที่มีพระบัญชาเพื่อประกอบพระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราชในการบัญชาการคณะสงฆ์ในทางราชการ 2.รับสนองพระบัญชาและแบ่งเบาพระศาสนกิจตามพระบัญชา เพื่อให้การคณะสงฆ์เป็นไปโดยเรียบร้อย 3.ปฏิบัติการอื่น ๆ ตามที่มีพระบัญชามอบหมาย

นายสิปป์บวร แก้วงาม โฆษกพศ. กล่าวว่า การปรับแก้กฎมหาเถรสมาคมดังกล่าวเพื่อให้สอดรับกับพ.ร.บ.คณะสงฆ์(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561 และเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ส่วนการแต่งตั้งคณะผู้ช่วยสนองงานสมเด็จพระสังฆราชนั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระงานของสมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากพระองค์ท่านมีพระชนมายุมากแล้ว