มส.ออกแนวปฏิบัติการจัดพิธีศพผู้เสียชีวิตจากติดเชื้อโควิด-19

0
306

นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ในฐานะโฆษกพศ. กล่าวว่า ที่ประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) เมื่อเร็วๆ นี้ เห็นชอบแนวปฏิบัติในการจัดงานศพในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งศพที่เสียชีวิตปกติ และศพที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยศพที่เสียชีวิตปกติ ให้มีการจัดพิธีสวดพระอภิธรรมศพไม่ควรเกิน 3 วัน และจำกัดผู้เข้าร่วมงานไม่เกินวันละ 30 คน และผู้ร่วมงานต้องสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย พร้อมทั้งปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ส่วนแนวทางในการจัดพิธีศพที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มีดังนี้ 1.เคลื่อนย้ายศพออกจากโรงพยาบาลไปที่วัดภายใน 24 ชั่วโมง 2.เมื่อถึงวัด เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือมูลนิธิ จำนวน 4 คน เป็นผู้เคลื่อนย้ายโลงศพขึ้นไปบนเมรุแบบปิดทันที โดยไม่มีการเปิดฝาโลงศพเด็ดขาด 3.จำนวนญาติ และผู้เข้าร่วมพิธีฌาปนกิจ รวมพระสงฆ์และเจ้าหน้าที่ ไม่เกิน 20 รูป/คน โดยต้องสอดคล้องตามคำสั่งของจังหวัดหรือคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดในพื้นที่ และเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร 4.ให้โยงสายสิญจ์จากโลงศพมายังพานที่ตั้งบนโต๊ะด้านล่าง เพื่อให้เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล โดยนิมนต์พระสงฆ์ 1 รูป และต้องสวมหน้ากากอนามัยพิจารณาผ้าบังสุกุล 5.ในพิธีประชุมเพลิง ให้มีพระสงฆ์ 4 รูป สวดมาติกา 1 จบ อยู่ด้านล่างเมรุ เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร และต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะประกอบพิธี 6.วันรุ่งขึ้นทำพิธีเก็บกระดูกได้ตามปกติ

โฆษกพศ. กล่าวต่อไปว่า มส.ยังพิจารณาเรื่องการใช้ชื่อ “โรคโควิด” เป็นภาษาบาลี โดยระบุว่า ตามที่มส.ได้เห็นชอบให้เจริญพระพุทธมนต์ บทรัตนสูตร เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ประชาชน และความเป็นสิริมงคลต่อประเทศนั้น ในการเจริญพระพุทธมนต์ ได้มีการนำบทคาถาไล่โควิด มาเป็นบทเจริญพระพุทธมนต์ดังกล่าว เพื่อให้การใช้ศัพท์ “โรคโควิด” ในบทเจริญพระพุทธมนต์ให้ถูกต้องตามหลักภาษาบาลี พศ.เห็นควรนำเสนอมส.เพื่อโปรดพิจารณาในการพิจารณาการใช้คำว่า “โควิด” เป็นภาษบาลี โดยพศ.ได้อาราธนาพระภิกษุ และบุคคลเข้าร่วมถวายความเห็นประกอบการพิจารณา ดังนี้ พระธรรมราชานุวัตร วัดโมลีโลกยาราม  พระเทพศากยวงศ์บัณฑิต วัดบวรนิเวศวิหาร และนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ผู้แทนสำนักพระราชวัง โดยสรุปความว่า คำว่า “โรคโควิด” หรือ “โควิด” เป็นศัพท์เฉพาะ (อสาธารณนาม) ซึ่งเป็นอักษรย่อที่มาจากภาษาอังกฤษว่า COVID หรือ Carona  Virus Disease  เมื่อนำมาเขียนเป็นภาษาบาลี ต้องปริวรรตอักษรเป็นอักษรโรมันที่ใช้เขียนภาษาบาลี และเป็นภาษาบาลีสากล โดยเปรียบเทียบกับภาษอังกฤษ เปรียบเทียบกับตัวสะกดในแม่กดในกาษาไทย และเปรียบเทียบกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญชองโรดติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่า ” โรคติดเซื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19” มส.พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบไห้ใช้ศัพท์ว่า “โควิโท” เป็นชื่อ โรคโควิด เป็นภาษาบาลี และเป็นอสาธารณนาม