มท.1 นำคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้ “โคก หนอง นา โมเดล” ระดับตำบล (CLM) บ้านสะอาด และเยี่ยมเยียนให้กำลังใจครัวเรือนเป้าหมาย ศจพ. อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

0
329

วันนี้ (11 มี.ค. 65) เวลา 13.30 น. ที่บ้านสะอาด หมู่ที่ 7 บ้านสะอาด ต.หนองเรือ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ระดับตำบล (CLM) โดยมี นายอนุชา โมกขะเวส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวัลลภ พริ้งพงษ์ พลตำรวจโท วีระยุทธ สิทธิมาลิก คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายกันตภณ สุขสงค์ นายอำเภอหนองเรือ นางรจนา สิงหรา ณ อยุธยา พัฒนาการอำเภอหนองเรือ นายจงรักษ์ คุณเงิน เจ้าของแปลง CLM พร้อมด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพี่น้องประชาชนชาวอำเภอหนองเรือ ให้การต้อนรับ

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นการเดินทางมาพบปะและให้กำลังใจพี่น้องประชาชนชาวอำเภอหนองเรือ ซึ่งในขณะนี้เรากำลังประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งสถานการณ์ด้านอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเราทุกคน โดยรัฐบาลได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนทุกคน ที่ต้องพบเจอกับความยากลำบากจากปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ศจพ. โดยเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ได้มีการมอบนโยบายให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และข้าราชการที่ต้องมาดูแลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนครัวเรือนเป้าหมายที่ตกเกณฑ์มาตรฐานของระบบ TPMAP ซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัดในการพิจารณาว่าครัวเรือนใดต้องมีภาครัฐ มีพี่เลี้ยงเข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลือ และร่วมกับพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ระดมสรรพกำลังในการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลครัวเรือนที่ประสบปัญหา

พลเอก อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า ในการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ จึงจำเป็นที่เราต้องมีหลักในการดำเนินชีวิตหรือประกอบอาชีพหรือธุรกิจที่มีความเสี่ยง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันประกอบด้วย 3 ห่วง ได้แก่ “ความพอประมาณ” คือ ความพอดี พอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไปจนเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น “ความมีเหตุผล” คือ การตัดสินใจทำสิ่งใดอย่างมีเหตุผล คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำอย่างรอบคอบ “การมีภูมิคุ้มกันที่ดี” คือ การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม และสามารถปรับตัวและรับมือได้อย่างทันท่วงที  และ 2 เงื่อนไข ได้แก่ “เงื่อนไขความรู้” หมายถึง ความรอบรู้เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ และมีความรู้ในการตัดสินใจได้ถูกต้อง และ “เงื่อนไขคุณธรรม” คือ การยึดหลักคุณธรรมเป็นแนวทาง มีความซื่อสัตย์สุจริต รู้จักแบ่งปันให้ผู้อื่น มีความสามัคคี ความอดทน ความเพียรพยายาม ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้นำหลักการดังกล่าวมาขับเคลื่อนส่งเสริมการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการพัฒนาหมู่บ้าน เรียกว่า “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง” และต่อยอดด้วยการนำหลักทฤษฎีใหม่ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 40 ทฤษฎีมาประยุกต์ เรียกว่า “โคก หนอง นา” ซึ่งเป็นการทำเกษตรในพื้นที่ขนาดจำกัด หรือขนาดเล็ก ตามสัดส่วน 30 30 30 และ 10 โดยสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดิน 4 ส่วน เพื่อการเพาะปลูก เป็นแหล่งน้ำ เป็นที่นา และเป็นที่อยู่อาศัย ในด้านการกักเก็บน้ำ สามารถเก็บไว้ได้ทั้งบนดินด้วยหนอง คลองไส้ไก่ คันนา และใต้ดิน ด้วยป่า 3 อย่าง ได้แก่ 1) ไม้ใช้สอย คือ ไม้โตเร็ว สำหรับใช้ในครัวเรือน 2) ไม้กินได้ 3) ไม้เศรษฐกิจ ไว้ปลูกเพื่อขาย เช่น ไม้สัก ส่วนประโยชน์ 4 อย่าง คือ 1) ไม้ใช้สอย นำมาสร้างบ้าน ทำโรงเรือน 2) ไม้กินได้ นำมาเป็นอาหารและยาสมุนไพร 3) ไม้เศรษฐกิจ นำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ และ 4) ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งในบริเวณพื้นที่ศูนย์เรียนรู้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ระดับตำบล (CLM) ของนายจงรักษ์ คุณเงิน แห่งนี้ เป็น 1 ใน 300 กว่าแห่งทั่วประเทศ ที่ได้พัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ ที่จะทำให้เราได้เรียนรู้วิถีทางการเกษตร การทำมาหากินให้อยู่รอดปลอดภัย ลดรายจ่าย สร้างรายได้ กินเองใช้เอง และอาจนำมาสู่การค้าขาย จึงขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอหนองเรือ ได้ใช้ประโยชน์จากบริเวณศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ศึกษาสถานีต่าง ๆ เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ที่เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน อันจะทำให้การดำรงชีวิตของเราเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน

จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้มอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กในโครงการต้นกล้าส่งน้องเรียนจบ ของอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น และเดินทางต่อไปยังบ้านเลขที่ 56/1 หมู่ที่ 7 บ้านสะอาด ตำบลหนองเรือ อำเภอหนองเรือ ซึ่งเป็นครัวเรือนเป้าหมายตามโครงการศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้เข้าเยี่ยมเยียนให้กำลังใจพร้อมมอบเงินสมทบทุนช่วยเหลือ นายรินทร์ วงษ์หนองกลอย และสมาชิกในครัวเรือน ซึ่งเป็น 1 ในครัวเรือนยากจน เป้าหมายมิติด้านรายได้จาก 156 ครัวเรือน มีรายได้เฉลี่ย 35,142 บาท/คน/ปี จัดเป็นครัวเรือนประเภทสงเคราะห์ ซึ่งปัจจุบัน นายรินทร์ วงษ์หนองกลอย มีอายุ 89 ปี 7 เดือน มีความพิการทางสายตา เกิดจากเมื่อ 3 ปีก่อน ไปตัดไม้ และมีเศษไม้กระเด็นเข้าตาข้างซ้าย แล้วไม่ได้ไปพบแพทย์จนตาเกิดอักเสบอย่างรุนแรง ทำให้ตาบอดมองไม่เห็น มีบุตร 5 คน แต่ละคนมีครอบครัวอยู่ต่างจังหวัด และต่างหมู่บ้าน ปัจจุบันครัวเรือนนี้ อาศัยอยู่ด้วยกัน 7 คน บนพื้นฐานข้อจำกัดเรื่องสุขภาพ แต่มีความอดทนดิ้นรนเพื่อช่วยเหลือตนเอง ด้วยการรับจ้างเพื่อให้มีรายได้พอเลี้ยงชีวิต หาอาหารตามธรรมชาติ เช่น ผัก หอย ปู ปลา เพื่อลดรายจ่ายของครอบครัว มีรายได้จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของสมาชิกในครอบครับ 2 คน คนละ 500 บาท รวม 1,000 บาท บัตรผู้สูงอายุของสมาชิก 2 คน รวม 1,400 บาท และเบี้ยคนพิการ 800 บาท พอเลี้ยงตนเองได้ไปแต่ละเดือน โดยในด้านสภาพความเป็นอยู่ในครัวเรือน ลักษณะที่อยู่อาศัยเป็นบ้านไม้ยกพื้น สภาพทรุดโทรม บนบ้านไม่มีความมั่นคง คนในครัวเรือนจึงมาอาศัยอยู่ใต้ถุนบ้านพอหลบแดด แต่หากฝนตกจะลำบากมากเพราะไม่มีที่อยู่ บ้านตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 50 ตารางวา เป็นพื้นที่ที่ซื้อมาแต่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ โดยต้องการขอรับความช่วยเหลือในการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจากเจ้าของเดิมมาเป็นชื่อตน รวมทั้งมีสมาชิกในครัวเรือนต้องการขอรับการสนับสนุนด้านฝึกอาชีพซ่อมคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอหนองเรือ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยอยู่ระหว่างการประสานสำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น สาขาหนองเรือ เพื่อประสานการปฏิบัติและการพิจารณาหาแนวทางให้ความช่วยเหลือเรื่องค่าธรรมการโอน พร้อมรับทราบความต้องการช่วยเหลือจัดหาหน่วยงาน หลักสูตรการฝึกอบรมความรู้เรื่องการซ่อมคอมพิวเตอร์ตามความสนใจ อำเภอหนองเรือสนับสนุนทุนการศึกษาโครงการต้นกล้าคนหนองเรือส่งน้องเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้แก่สมาชิกในครอบครัวที่กำลังศึกษา สถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จังหวัดขอนแก่น บริจาคเงิน 12,000 บาท สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น สนับสนุนวัสดุซ่อมแซม ปรับปรุงบ้าน 40,000 บาท อำเภอหนองเรือมอบถุงยังชีพ ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านและองค์การบริหารส่วนตำบลหนองเรือ สมทบแรงงาน ซ่อมแซมบ้าน และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอหนองเรือ จะได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผักให้กับครัวเรือนต่อไป

 

กองสารนิเทศ สป.มท. : 11 มี.ค. 2565