มจ.อุทัยกัญญา พร้อมราชสกุลภาณุพันธ์ เสด็จวางพานพุ่ม เนื่องในวันสื่อสารแห่งชาติ 4 สิงหาคม

0
1312

วันนี้ (4 ส.ค.63) หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ พร้อมสมาชิกราชสกุลภาณุพันธุ์ เสด็จวางพานพุ่มถวายเครื่องสักการะพระอนุสาวรีย์ จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เนื่องในวันสื่อสารแห่งชาติ พ.ศ.2563 ณ พระอนุสาวรีย์ฯ บริเวณเกาะกลางน้ำ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

นายยุทธพงษ์ เอี้ยงอ้าย เลขานุการในองค์หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ ได้ให้สำภาษณ์ว่า คณะรัฐมนตรีกำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันสื่อสารแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม ร่วมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท โทรคมนาคม) จึงได้กำหนดจัดงานพิธีถวายเครื่องราชสักการะพระอนุสาวรีย์จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช อธิบดีผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขพระองค์แรก เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงประกอบพระกรณียกิจที่สำคัญอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทั้งด้านการทหาร การปกครองบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการสื่อสาร โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ให้เกียติมาเป็นประธานพิธีดังกล่าว

บิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย

สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงประทับอยู่ ณ ตำหนักหอนิเพทพิทยาคม ริมประตูศรีสุนทร ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทรงศึกษาภาษาอังกฤษร่วมกับเจ้านายที่เป็นพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์อื่นๆ เมื่อยังทรงพระเยาว์ ต่อมาแม้การสอนภาษาอังกฤษที่นั่นจะยกเลิกไป แต่เจ้านายก็ยังเสด็จไปชุมนุมกันที่ตำหนักหอนิเพทพิทยาคม

สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ได้ทรงชักชวนพระเจ้าน้องยาเธอบางพระองค์ ช่วยกันจดข่าวในพระราชสำนักแต่ละวันมาพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือพิมพ์ข่าวรายวัน เจ้านายที่ทรงร่วมจดข่าวในครั้งเริ่มแรกมี 6 พระองค์ คือ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ หนังสือข่าวเล่มแรกพิมพ์ออกเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2418 ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “COURT” ซึ่งแปลว่า พระราชสำนัก ต่อมาใน พ.ศ. 2419 จึงใช้ชื่อภาษาไทยว่า ข่าวราชการ ในเวลาต่อมาจึงเรียกว่า หนังสือค๊อตข่าวราชการ

สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงดำริให้มีคนเดินส่งหนังสือแก่ผู้รับหนังสือทุกๆ คน ทุกๆ เช้า โดยคิดเงินค่าสมาชิก และเมื่อคนส่งหนังสือไปส่งหนังสือที่บ้านสมาชิกผู้ใดแล้ว ผู้นั้นจะฝากจดหมายส่งถึงสมาชิกผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้ โดยจะต้องซื้อแสตมป์ปิดจดหมายของตนที่จะฝากไปส่งและลงชื่อของตนเองทับแสตมป์แทนตราเพื่อให้เป็นแสตมป์ที่จะนำไปใช้อีกไม่ได้ แสตมป์นั้นทำเป็นพระรูปเหมือนอย่างที่พิมพ์ไว้ข้างหน้าหนังสือ COURT ขายดวงละอัฐและให้ซื้อได้จากโรงพิมพ์หนังสือข่าวราชการ ราคาค่าจ้างส่งจดหมายมีอัตราต่างกัน ถ้าอยู่ในคูพระนครชั้นใน ติดแสตมป์หนึ่งอัฐ ถ้านอกคูพระนครออกไป ผู้ส่งต้องติดแสตมป์ 2 อัฐ

กิจการไปรษณีย์ แก้ไข

การจัดส่ง หนังสือ COURT และ หนังสือข่าวราชการ ของคนส่งหนังสือที่ทำหน้าที่รับส่งจดหมายระหว่างสมาชิกด้วย นับเป็นจุดเริ่มของการมี บุรุษไปรษณีย์ และการใช้แสตมป์ติดบนจดหมายที่สมาชิกของหนังสือ COURT และหนังสือข่าวราชการส่งถึงกัน จึงเป็นจุดเริ่มของการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้มีการไปรษณีย์และโทรเลขขึ้นในประเทศไทย ทรงเห็นว่าสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช มีพระทัยใส่ในเรื่องการไปรษณีย์ จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ตั้งกรมไปรษณีย์ และกรมโทรเลข ขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ทรงได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์ และกรมโทรเลข เป็นพระองค์แรกของประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2441 ทั้ง 2 กรมนี้ได้รวมเป็นกรมเดียวกัน มีชื่อใหม่ว่า กรมไปรษณีย์โทรเลข