มจร ลงนาม MOU ตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯ ตั้งเป้าขยาย ให้ครอบคลุมม.สงฆ์กว่า 40 จังหวัด

0
979

วันนี้ (16 ก.ย.63) เวลา 09.00 น. ที่อาคารพระพรหมบัณฑิต วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระราชปริยัติกวี  (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ) อธิการบดีมจร พร้อมด้วย นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดกีรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พ.ต.ท.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผอ.สำนักงานกิจการยุติธรรมกระทรวงยุติธรรม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนที่บริเวณชั้น 3 อาคารพระพรหมบัณฑิต วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ

ภายหลังพิธีลงนาม  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ และผอ.หลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อปี 2555 ในสมัยที่พระพรหมบัณฑิต(ประยูร ธมฺมจิตฺโต)  เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ผู้รักษาการเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมจร ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับนายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และศ.กิตติคุณดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิกาสถาบันพระปกเกล้า ในขณะนั้น เพื่อร่วมกันสร้างสันติศึกษาให้เป็นที่พึ่งของสังคม โดยส่วนหนึ่งของการสร้างสันติศึกษา คือ งานด้านการไกล่เกลี่ย และต่อมามีการประกาศใช้พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 จึงเป็นโอกาสให้มจร สามารถตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนได้ ขณะเดียวกันพระราชปริยัติกวี อธิการบดีมจร ยังมีนโยบายให้มจร เป็นศูนย์กลางในการตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน จากนั้นจะให้ขยายไปยังวิทยาเขตต่างๆ ของมจร ทั่วประเทศกว่า 40 จังหวัด นอกจากนี้ได้หารือกับทางพระพรหมบัณฑิต เพื่อให้พระสังฆาธิการในเขตปกครองคณะสงฆ์หนกลาง เข้ามาอบรมเพื่อเป็นผู้ไกล่เกลี่ยด้วย

พระมหาหรรษา กล่าวต่อไปว่า ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนแห่งนี้ตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกของจ.พระนครศรีอยุธยา และเป็นแห่งเดียวในสถาบันอุดมศึกษาภาคกลาง ซึ่งการไกล่เกลี่ยจะช่วยให้ประชาชนที่มีข้อขัดแย้งกันไม่ต้องเสียเงินจ้างทนายความ เสียเวลาในการขึ้นศาล เพียงแค่แจ้งเรื่องมาที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน จะเป็นผู้ประสานคู่ขัดแย้งมาไกล่เกลี่ยกัน แต่ต้องเป็นไปโดยความสมัครใจของทั้งคู่ ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะรับไกล่เกลี่ยในกรณีเรียกร้องค่าเสียหายไม่เกิน 500,000 บาท พร้อมทั้งเปิดรับเรื่องร้องเรียนภายในพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยาด้วย

“การลงนามบันทึกความเข้าใจทั้ง 3 หน่วยงานในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการ การบูรณาการและพัฒนาองค์ความรู้ การศึกษาวิจัย การพัฒนาบุคลากรและฝึกอบรม การเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ หรือการกำหนดแนวทางนโยบายที่เกี่ยวกับกฎหมาย สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน การบริหารงานยุติธรรม การบูรณาการพระพุทธศาสนาและสังคม รวมทั้งเพื่อสร้างความร่วมมือและบูรณาการการทำงานระหว่างบุคลากร พระสงฆ์ คณาจารย์  นักวิชาการ รวมถึงนิสิตร่วมกันทั้งสามหน่วยงาน และจากนี้ในภาคบ่าย จะมีการเปิดหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 ตั้งแต่วันที่ 16-20 กันยายนนี้ ทันที” พระมหาหรรษา กล่าว

///////////////////////////////////////////////////////////////////

///////////////////////////////////////////////////////////////////