มจร.มอบรางวัล-ยกย่อง “สุชัชวีร์” อธิการบดีสจล. เป็น “สติวิศวกร”

0
1634

รางวัลลมหายใจแห่งสันติภาพ หลักสูตรสันติศึกษามจร. เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างสันติภาพให้กับโลก

วันนี้ (21 ก.ย.62) ที่อาคาร มวก. 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา หลักสูตรสันติศึกษา และวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร. จัดประชุมสัมมนาวิชาการภายเรื่อง “สติและสมาธิ: วิถีสู่สันติภาพ Mindfulness and Concentration: The Path to Peace” เนื่องในวันสันติภาพสากล พร้อมทั้งมีการมอบรางวัลลมหายใจแห่งสันติภาพให้กับศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) โดยมีพระเทพปวรเมธี (ประสิทธิ์ พฺรหฺมรํสี) รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร.เป็นประธาน และกล่าวปาฐกถาพิเศษ “สติและสมาธิ: วิถีสู่สันติภาพ” ว่า วันสันติภาพโลก ตรงกับ วันที่ 21 ก.ย.ของทุกปี จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการหยุดใช้ความรุนแรง ถ้าทุกคนหยุดแม้เพียง 1 นาที ความสันติย่อมเกิดขึ้นแก่โลกแล้ว หลักสูตรสันติศึกษา เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างสันติภาพให้กับโลก ด้วยการสร้างผู้ที่จบหลักสูตรให้เป็นวิศวกรสันติภาพ ทั้งนี้สำหรับพื้นฐานสำคัญในการสร้างสันติภาพนั้น คือ พรหมวิหารธรรม รวมทั้งการมีสติ สมาธิ จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นมาได้

ด้านพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผอ.หลักสูตรสาขาวิชาสันติศึกษา และผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงาน กล่าวว่า จากการบรรยายของศ.ดร.สุชัชวีร์ ในหัวข้อ “Mindful Digital: Changing Our life Changing the world : สติดิจิทัล: เปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนโลก” ได้ถ่ายทอดเรื่องราวในฐานะวิศวกรที่มีส่วนสำคัญในสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่ประเทศไทย โดยรากฐานสำคัญของการออกแบบวัตถุภายนอกได้ ต้องสำเร็จมาจากการออกแบบภายในใจ ซึ่งตัวแปรในการออกแบบภายใน คือ สติ และเพราะสติทำให้ “สติวิศวกร”ท่านนี้ นำเอาไปออกแบบจิตใจของท่าน ทำให้จิตใจมีพลัง สามารถสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนชีวิตได้ ขณะเดียวกันในการสัมมนาครั้งนี้ ยังได้เปิดเวทีรับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับตัวแทนครูยุคใหม่ ภายใต้หัวข้อ “กระบวนการผลิตครูให้มีทักษะในการจัดการเรียนรู้ที่มีสติและสมาธิเป็นฐานที่เอื้อต่อสถานศึกษาในยุคดิจิทัล” โดยคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านการจัดการศึกษา คณะครุศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศ

พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า มีความจำเป็นที่จะต้องนำเรื่องสติ สมาธิ เข้าสู่สถานการศึกษาทั่วประเทศ จากนั้นจะนำผลการศึกษาวิจัยจากสถานศึกษาต้นแบบที่ประสบความสำเร็จมาเป็นเครื่องยืนยัน เพื่อให้สถานศึกษา คณาจารย์จากคณะครุศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์ นำแนวทางไปปรับใช้ให้เกิดสัมฤทธิผลต่อตัวนักเรียน นิสิต นักศึกษาทั่วประเทศต่อไป