พิธีสวดพระอภิธรรมแรกแห่งปี ๖๕ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

0
1306

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๕ รอบ ๑๙.๐๐ น. มีพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺญมหาเถร ป.ธ.๙) อายุ ๙๖ พรรษา ๗๖ อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระอารามหลวง อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม อดีตประธานสมัชชามหาคณิสสร อดีตที่ปรึกษามหาเถรสมาคม อดีตประธานอำนวยการโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หมู่บ้านรักษาศีล ๕ ณ ห้องรัตนจันทสรวรคุรุ (ฐานองค์พระพุทธธรรมกายเทพมงคล) วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

คณะผู้ผลิตสารคดีเพื่อพระพุทธศาสนาโลก โดย พระธนัญชัย ศิลาลาศ เป็นเจ้าภาพ พระโสภณวชิราภรณ์ (ไสว โชติโก) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะผู้ผลิตสารคดีฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายณรงค์  หนูเชื้อ สื่ออาวุโสสายศาสนา นางสาวอันนา (เปิ้ล) สุขสุกรี ในฐานะคณะผู้ผลิตสารคดีฯ ร่วมเป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยคณะเจ้าภาพ พระเถรานุเถระ คณะแม่ชี และศรัทธาญาติโยม ร่วมในพิธี

ในพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมครั้งที่ ๒๐ และนับเป็นครั้งแรกแห่งปี ๒๕๖๕ นี้ คณะเจ้าภาพได้จัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ โดย พระพรหมกวี (พงศ์สันต์ ธมฺมเสฏฺโฐ ป.ธ.๙) กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) เจ้าคณะภาค ๓ เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร พระสงฆ์จตุรวรรค สวดพระอภิธรรม จากวัดคูหาสวรรค์ วรวิหาร เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ

สำหรับพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จักมีการบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมศพ ในเวลา ๑๙.๐๐ น. เป็นประจำทุกคืน โดยกำหนดในเบื้องต้นนี้ เป็นระยะเวลา ๑๐๐ วัน จากนี้จักมีพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร (๕๐ วัน) ในวันพฤหัสบดี ที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๕ และวันศุกร์ ที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๕ พิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (๑๐๐ วัน) ในวันศุกร์ ที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๕ และวันเสาร์ ที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๕

ฝาบาตร เชิงบาตร พร้อมด้วยบาตร

หีบตราจักรี

เครื่องถมปัด” ประกอบสมณศักดิ์ ซึ่งเชิญมาตั้งเบื้องหน้าโกศศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ประดิษฐาน ณ ห้องรัตนจันทสรวรคุรุ (ฐานองค์พระพุทธธรรมกายเทพมงคล) “ถมปัด” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้คำนิยามว่า “ภาชนะทองแดง ที่เคลือบนํ้ายาประสมด้วยลูกปัดป่นให้เป็นผง ให้เป็นสีและลวดลายต่าง ๆ” ถึงแม้จะมีคำว่า “ถม” แต่ถมปัดก็มิได้จัดอยู่ในประเภทเครื่องถม ความแตกต่างอยู่ที่รูปพรรณ กล่าวคือ เครื่องถมเป็นโลหะเงินหรือทอง เคลือบด้วยน้ำยาที่มีส่วนผสมของตะกั่ว ทองแดง และเงิน

ส่วนถมปัด เป็นโลหะทองแดง เคลือบด้วยน้ำยาที่ผสมด้วยแก้ว ถึงแม้จะทำด้วยโลหะเงินหรือทอง แล้วเคลือบน้ำยาที่ผสมด้วยแก้ว ก็หาเรียกว่า “ถมปัด” ไม่ ผู้บัญญัติศัพท์คำว่า ถมปัด คงเห็นว่า มีการลงยาคล้ายเครื่องถม หากแต่ไม่เป็นสีดำ แต่มีสีสันเหมือนลูกปัดหรือแก้วสีต่างๆ จึงออกเสียงว่า ถมปัด ให้เป็นที่เข้าใจว่า เป็นชนิดที่ผลิตขึ้นด้วยการทำถมเหมือนกัน

ขันน้ำ พานรอง

พานหมาก

กาน้ำทรงกระบอก

คนโท

ถาดล้างหน้า

กระโถนปากแตร

กระโถนเล็ก

ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ก็มีเครื่องใช้ไม้สอยชนิดหนึ่ง เรียกว่า “Shippo” (ชิปโป) ทำด้วยทองแดงหรือโลหะอื่น แล้วเคลือบน้ำยาผสมด้วยแก้ว ที่ยุโรปก็มีภาชนะที่ผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีเดียวกันนี้ เรียกว่า “Cloisonne” (คลอยซองเน) ซึ่งก็คือ เครื่องโลหะลงยาที่เรียกว่า ถมปัด นั่นเอง สำหรับประเทศไทย เริ่มมีการทำเครื่องถมปัดเมื่อใด ไม่มีหลักฐานแน่ชัด เข้าใจว่า จะมีการทำขึ้นภายหลังเครื่องถม แต่มามีความรุ่งเรืองถึงขีดสุดในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โดยมี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ทรงเป็นผู้กำกับการช่างแขนงนี้

เครื่องถมปัด” มักนิยมทำเป็นเครื่องประกอบสมณศักดิ์ ของพระภิกษุสงฆ์ ได้แก่ พัดยศ และเครื่องใช้อื่นๆ ซึ่งพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ตั้งแต่ พระครูในกรุง ขึ้นไปจนถึงสมเด็จพระสังฆราช จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องถมปัดประกอบสมณศักดิ์ เป็นจำนวนมากน้อย ลดหลั่นกันตามลำดับของฐานานุศักดิ์ ปัจจุบันตั้งแต่พระราชาคณะชั้นธรรมลงมา ไม่มีเครื่องประกอบสมณศักดิ์ คงได้รับแต่พัดยศ กับสัญญาบัตรเท่านั้น

ข้อมูล : หนังสือ ศิลปกรรมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (๒๕๓๑)

ขอบคุณที่มา : เพจ นานาสารัตถะ / เพจ Watpaknam.bkk