พศ. แฉ!! มีคนแอบอ้างชื่อราชบัณฑิตบิดเบือนข้อมูลการสละสมณเพศ ย้ำพระนิพนธ์อดีตสมเด็จพระสังฆราช สงฆ์มีกฎ 3 ประเภทที่พึงฟัง

0
727

จากกรณีที่มีข่าวว่า ศ.พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ได้ออกมากล่าวถึงการแถลงข่าวของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เรื่อง การสละสมณเพศของพระภิกษุสงฆ์ ภายหลังการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) เมื่อวันที่ 28 ก.พ.63 ว่า เป็นการทำให้สังคมสับสนนั้น

เมื่อวันที่ 10 มี.ค.63 ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พุทธมณฑล จ.นครปฐม นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการพศ. ในฐานะโฆษกพศ. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวภายหลังการประชุมมส.ครั้งที่ 7/2563 ว่า ข่าวนี้เป็นข่าวที่บิดเบือนข้อเท็จจริง และตนได้ให้เจ้าหน้าที่พศ. ไปสอบถามราชบัณฑิตท่านดังกล่าวแล้ว พบว่า ท่านไม่ได้มีการข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย แต่มีคนแอบอ้างชื่อท่านไปเขียนโดยที่ท่านไม่รับรู้ และเมื่อสังเกตข้อความตามข่าวที่ระบุว่าราชบัณฑิตท่านนี้ให้สัมภาษณ์ จะพบว่ามีข้อความที่ไม่ถูกต้องอยู่หลายจุด ทั้งนี้การที่พศ.นำเรื่องการสละสมณเพศเข้าหารือในมส. เป็นการนำหลักกฎหมายที่มีการบัญญัติไว้แล้วเข้าหารือ เพื่อนำมาทบทวน และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคม  โดยมส.ได้มีมติรับทราบ และทางพศ.ก็ได้มีการแจ้งเวียนมตินี้ไปยังคณะสงฆ์ทั่วประเทศแล้ว

“ขอเรียนว่า ถ้าเราอ่านข่าวนี้จะพบว่ามีบางคำที่บิดเบือนอยู่ เช่นกรณีที่พระท่านถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่จะดำเนินการให้พ้นจากความเป็นสงฆ์ แต่ในนั้นกลับไปเขียนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจบ้าง อะไรบ้าง ถ้าจะดูกันช็อตต่อช็อต จะพบคำบิดเบือนอยู่ ขอเรียนว่ามติมหาเถรสมาคมที่ออกไปนั้น ออกตามหลักกฎหมายที่บัญญัติไว้ ไม่ได้เขียนมาเอง  และบัญญัติไว้นานแล้วด้วย ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ปรับปรุงแก้ไข ฉบับพ.ศ.2535 ไม่ใช่เราจะโมเมขึ้นมาให้เป็นมติมส. เพียงแต่เรานำข้อกฎหมายนั้นมาทบทวนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวบิดเบือนที่เรารู้ไม่เท่าทันก็ได้ เรามีคนของเราไปกราบเรียนกับท่านราชบัณทิต ท่านบอกว่า ท่านไม่รู้เรื่องนี้เลย แต่มีคนเอาชื่อท่านไปอ้าง” โฆษกพศ. กล่าว

นายสิปป์บวร กล่าวอีกว่า ทางพศ.ไม่เคยนิ่งเฉย เมื่อมีการถูกบิดเบือนข้อเท็จจริงตามข่าว เราจะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน คำว่าสึกกับคำว่าสละสมณเพศ ก็มีความหมายเดียวกัน คือพ้นจากความเป็นสงฆ์ เรื่องการบัญญัติข้อปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ มีมานานแล้ว มีการให้เคารพทั้งพระวินัย และกฎหมายบ้านเมือง จะมาแอบอ้างว่าถูกพระวินัยแต่ไม่ถูกกฎหมายนั้นไม่ได้  ควรต้องชอบด้วยกันทั้งพระวินัยและกฎหมาย ในประเด็นนี้ได้มีการกล่าวถึงข้อไหนบ้างที่สามารถเข้ามาบวชใหม่ได้ และข้อไหนไม่ได้ หากคดีอาญานั้นต้องปาราชิกด้วย ก็กลับมาบวชใหม่ไม่ได้แล้ว  ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันพระภิกษุต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อพระวินัยควบคู่กันไป จะเลือกปฏิบัติชอบเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้ ดังปรากฏในพระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 ซึ่งพระนิพนธ์ไว้ ความว่า “พระสงฆ์แม้มีพระวินัยเป็นกฎหมายสำหรับตัวไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ก็ยังจะต้องอยู่ใต้อำนาจแห่งกฎหมายของราชอาณาจักรอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งตราไว้เฉพาะหรือเพื่อคนทั่วไปและยังควรอนุวัตจารีตของบ้านเมือง อันไม่ขัดต่อกฎหมายสองประเภทนั้นอีก สรุปความ ภิกษุมีกฎหมายอันจะพึงฟังอยู่ ๓ ประเภท คือกฎหมายแผ่นดิน ๑ พระวินัย ๑ จารีต ๑”

(ชมคลิป)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมติดังกล่าว เป็นมติที่มส. รับทราบ เรื่องการพ้นจากความเป็นพระภิกษุ กรณีต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา จากกรณีที่มีพระภิกษุถูกจับกุม กรณีต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา และเป็นข้อถกเถียงกันในหมู่ชาวพุทธเกี่ยวกับพระภิกษุที่ถูกจับกุม เเละเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศ โดยที่พระภิกษุรูปนั้นไม่ได้เปล่งวาจาจะถือว่าพันจากความเป็นพระภิกษุหรือไม่ และกรณีพระภิกษุรูปนั้นได้รับการประกันตัวออกมาหรือพ้นโทษมาแล้ว จะกลับมานุ่งห่มจีวรโดยไม่ได้อุปสมบทใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสนแก่ชาวพุทธ และมีผู้แสดงทัศนะต่อเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง โดยเผยแพร่ข่าวออกไปผ่านสื่อในหลายช่องทาง นำมาซึ่งความเสื่อมเสีย กระทบต่อความมั่นคงทางพระพุทธศาสนา จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นแก่คณะสงฆ์และสังคม พศ.จึงได้นำกฎหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28, 29, 30 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 เข้าหารือมส. เพื่อต้องการชี้แจงทำความเข้าใจ และเป็นแนวปฏิบัติแก่คณะสงฆ์ทั่วประเทศต่อไป