“พระเจ้าอยู่หัว” โปรดเกล้าฯ ให้ “พล.อ.สุรยุทธ์” เป็นผู้แทนพระองค์เปิดงานพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา ประจำปี 2566 ยกพระธรรมคำสอนทางพุทธศาสนานำไปสู่ความหลุดพ้น

0
319

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ “พล.อ.สุรยุทธ์” เป็นผู้แทนพระองค์เปิดงานพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ 18 ประจำปี 2566 ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ยกหลักคำสอนทางพุทธศาสนานำไปสู่ความหลุดพ้น “สมเด็จพระสังฆราช” ประทานพระคติธรรมวิสาขบูชา น้อมระลึกถึง “พระพุทธคุณ”

วันนี้ (2 มิ.ย.2566) ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ สมเด็จพระสังฆราช ประมุขสงฆ์ และผู้นำชาวพุทธ จาก 55 ประเทศทั่วโลก ได้เดินทางมาร่วมเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2566

โดยเวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ เปิดงานพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ 18 ประจำปี 2566 โดยพล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ เปิดงานพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ 18 ประจำปี 2566 เป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งที่เห็นท่านทั้งหลายมาประชุมพร้อมกันในประเทศไทยเนื่องในวันวิสาขบูชา เพื่อร่วมประกาศคุณูปการของพุทธศาสนา และแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวพุทธ พระพุทธศาสนานั้นมีหลักธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้อย่างบริสุทธิ์ บริบูรณ์  คือ ความจริงอันประเสริฐ ซึ่งหากบุคคลตระหนักรู้ และยอมรับตามเป็นจริงก็จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในหนทางแห่งความดี ความเจริญ อันจะนำไปสู่ความหลุดพ้นได้ ในโอกาสวันเพ็ญเดือนวิสาขมงคลวารสำคัญ อันเป็นเครื่องระลึกถึงการประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ของพระพุทธองค์ จึงขอให้ชาวพุทธทุกท่านพิจารณา ใคร่ครวญถึงแก่นแท้แห่งพระธรรม อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์ทั้งนั้น และขออนุโมทนาในกุศลจิตที่ท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติบำเพ็ญด้วยศรัทธา และเสียสละครั้งนี้ ทุกประการ ในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ด้านพระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) อุปนายกมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ในฐานะประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก กล่าวว่า การประชุมชาวพุทธนานาชาติ และฉลองวันวิสาขบูชาโลกในปีนี้ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้นำชาวพุทธทั่วโลก แบบเหนือความคาดหมาย เพราะตอนแรกเห็นว่าเป็นช่วงหลังการระบาดของโรคโควิด – 19 อาจจะยังมีผู้ร่วมเดินทางมาน้อย แต่กลับกลายเป็นว่า ผู้นำชาวพุทธแต่ละประเทศแสดงความต้องการที่จะเดินทางมาร่วมเฉลิมฉลองวิสาขบูชาที่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก จนทำให้มีผู้เดินทางมาร่วมฉลองวิสาขบูชาในครั้งนี้มากกว่า 3,500 รูป/คน และผู้นำชาวพุทธที่เดินทางมาล้วนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในแต่ละประเทศด้วย ทั้งนี้สำหรับปฏิญญากรุงเทพมหานคร ที่ผู้นำชาวพุทธร่วมกันประกาศในครั้งนี้ จะเน้นที่การนำหลักพุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก ซึ่งผู้นำชาวพุทธทุกประเทศที่มาร่วมประชุมก็จะนำไปปฏิบัติโดยพร้อมเพรียงกัน และจะมีการนำเสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย

วันเดียวกัน สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันวิสาขบูชา 3 มิ.ย. 2566 ใจความว่า ดิถีวิสาขบูชา คล้ายดีถีประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง ควรที่พุทธบริษัททั้งหลาย จักได้พร้อมเพรียงกันประกอบกุศลกิจ กระทำสักการบูชาพระรัตนตรัยเป็นกรณีพิเศษ วันวิสาขบูชา เป็นเหตุช่วยเตือนใจให้พุทธบริษัท น้อมระลึกถึง “พระพุทธคุณ” ซึ่งประมวลสรุปลงได้สามประการ ได้แก่ 1.พระปัญญาคุณ พระพุทธเจ้า ทรงพระญาณหยั่งรู้การเกิดและการตายของสัตว์โลก รู้การหลุดพ้นจากกิเลส และทรงค้นพบความจริงอันยิ่งใหญ่  4 ประการ คือ รู้ทุกข์ รู้เหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ รู้ความดับทุกข์ และรู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ 2.พระบริสุทธิคุณ พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุโมกขธรรม ทรงหลุดพ้นจากกิเลส คือความโลภ ความโกรธ และความหลง อันเป็นเครื่องเศร้าหมองได้อย่างสะอาดหมดจดสิ้นเชิง และ 3.พระมหากรุณาคุณ หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้ทรงพระกรุณาสั่งสอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายให้ได้รู้แจ้งธรรมตามที่พระองค์ตรัสรู้ โดยพระพุทธประสงค์ให้หมู่สัตว์หลุดพ้นจากห้วงทุกข์ เป็นเวลาเนิ่นนานถึง 45 ปี ตราบกระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพพาน

เมื่อสาธุชนได้ตระหนักซาบซึ้งถึงพระพุทธคุณทั้ง 3 ประการดั่งนี้แล้ว จึงพึงบูชาพระพุทธคุณ โดยการอุทิศชีวิตพากเพียรศึกษา และอบรมพัฒนาตนเองให้เฉลียวฉลาดในทางธรรม หมั่นฝึกฝนรักษากายจริยา วจีจริยา และมโนจริยา ให้มั่นคงอยู่ในธรรมสุจริต มีดวงจิตเอิบอาบด้วยความกรุณา แผ่ความปรารถนาดีไปยังสรรพชีวิตผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตายโดยเสมอหน้า จัดเป็น “ปฏิบัติบูชา” ที่พึงกระทำต่อพระรัตนตรัย อันจักนำมาซึ่งความรุ่งเรืองไพศาลแห่งพระบวรพุทธศาสนาสืบไป “จิรํ ติฎฺธตุ สทฺธมฺโม ธมฺเม โหนฺตุ สคารวา ขอพระสัทธรรมจงดำรงคงมั่นอยู่ตลอดกาลนาน และขอสาธุชนทั้งหลาย จงมีความเคารพในพระธรรมนั้น เทอญ”