X

พระสงฆ์หวั่น กฎหมายใหม่ขึ้นทะเบียนหมา-แมว คนปล่อยวัดเพิ่ม ทำพระขึ้นโรงพัก ปค.ท้องถิ่นชี้ หากยังฝืนคงเข้าสู่เทศกาลปล่อยหมาแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พระครูปลัดกวีวัฒน์ รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่ …) พ.ศ…. เนื่องจากยังไม่ปรากฏให้มีบทบัญญัติให้เจ้าของสัตว์ต้องนำสัตว์ไปขึ้นทะเบียน และก่อให้เกิดการปล่อยปละละเลยทิ้งสัตว์เลี้ยง ทำให้เกิดปัญหาการเพิ่มจำนวน ดังนั้น เจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติ ป้องกันการทอดทิ้งสัตว์ โดยต้องนำสัตว์ไปขึ้นทะเบียนฉบับละ 50 บาท ค่าสมุดประจำตัวสัตว์ 100 บาท ค่าเครื่องหมายตัวละ 300 บาท หากเจ้าของไม่ดำเนินการเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจเทียบปรับไม่เกิน 25,000 บาทนั้น เมื่อมีมติครม.ดังกล่าวออกมาขณะนี้ เกรงว่า หากหน่วยงานรัฐ ไม่ทำความเข้าใจต่อประชาชน หรือหาทางออกให้แก่ประชาชน เนื่องจากค่าขึ้นทะเบียนสุนัข แมว อยู่ที่ตัวละ 450 บาท หากบ้านไหน เก็บแมว สุนัขมาเลี้ยงไว้เป็นจำนวนมาก จะจ่ายค่าขึ้นทะเบียนไหวหรือไม่ เกรงว่า จะทำให้คนที่ไม่ไหวต่อค่าใช้จ่ายนี้นำสุนัขและแมวมาปล่อยวัดมากขึ้น

พระครูปลัดกวีวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ขอให้รัฐหาช่องทางที่เหมาะสมให้แก่วัดหรือสถานรับเลี้ยงที่มี สุนัข และแมวจรจัด ที่คนนำมาปล่อยไว้ด้วย เนื่องจากบางวัดและสถานรับเลี้ยงสุนัขและแมวจรจัดในขณะนี้ มีสุนัขและแมวที่คนนำมาปล่อยไว้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งขอให้เร่งประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจมิเช่นนั้น เจ้าอาวาสหลายวัดอาจจะมีความผิดแบบไม่รู้ตัวได้ การออกมาเสนอแนะครั้งนี้ ถือว่าจะได้ช่วยเตือนและหาทางออกกัน ก่อนที่จะมีหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาหรือค่าปรับมาสู่วัด หรือประชาชนที่อุปการะสัตว์เลี้ยงจรจัดอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่อยากให้เหมือนตอนไม่ติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ในวัด ที่เจ้าอาวาสถูกหมายเรียกขึ้นโรงพักเป็นจำนวนมากมาแล้ว

ด้านนายวสุ ผันเงิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านใหม่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับค่าขึ้นทะเบียนหมา-แมว จำนวน 450 บาท/ตัว และค่าปรับผู้ฝ่าฝืน 2.5 หมื่นบาท หากรัฐจะมีมาตรการนี้ออกมาจริง ก็ไม่ควรรบกวนประชาชนมากมายขนาดนี้ ต้องดูที่ความเป็นจริงผู้รับภาระเลี้ยงหมาแมวจรจัด 10 ตัวขึ้นไปทั่วประเทศคงรับไม่ได้ และมาตรการในการออกกฎหมายฉบับนี้จะทำให้เกิดเทศกาลปล่อยหมาแห่งชาติ แล้วใครจะรับผิดชอบ

นายกฯอบต.บ้านใหม่ กล่าวต่อว่า ในส่วนความรับผิดชอบของตนเมื่อได้รับแจ้งมีหมาแมวจรจัดก็นำไปฝากให้ผู้มีจิตอาสาทำการเลี้ยงดูโดยนำอาหารกลางวันนักเรียนที่เหลือไปให้บ้าง ขออาหารเหลือจากทางวัดในพื้นที่ไปให้บ้าง ตนจึงอยากจะถามว่า หากมีกฎหมายนี้ออกมาใครจะรับผิดชอบค่าขึ้นทะเบียน คงไม่พ้นต้องปล่อยทิ้งหมาแมวพร้อมๆ กัน แล้วจะเป็นเทศกาลปล่อยหมาแห่งชาติอย่างเลี่ยงไม่ได้

“ผมอยากชี้แนะให้ดูมาตรการควบคุมหมาแมวจรจัดของเทศบาลนครปากเกล็ดและอปท.อีกบางแห่ง ที่เขาใช้เงินสะสมคงเหลือในบัญชีของแต่ละปีมาสร้างศูนย์พักพิงหมาแมวจรจัด ทั้งเรื่องการควบคุมโรค อาหารและสัตวแพทย์ไม่เคยมีปัญหา แปลกใจทำไมไม่มีใครคิดถึงเรื่องนี้  มีแต่คิดจะรบกวนชาวบ้านให้เดือดร้อน ผมอยากบอกว่าถ้ารวมเงินสะสมคงเหลือในบัญชีของอปท.ทั่วประเทศ จะมีมากมายถึงหลักแสนล้านบาท ทำไม่มีคิดเอาส่วนนี้มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เพียงแต่รัฐมีนโยบายให้ใช้เงินส่วนนี้และให้ทุกอปท.ทั่วประเทศดำเนินการจัดตั้งศูนย์พักพิงพร้อมๆ กัน เพื่อป้องกันปัญหาการไหลเทหมาแมวจรจัดไปยังศูนย์ฯในพื้นที่อื่น” นายกฯอบต.บ้านใหม่ กล่าว

 

 

 

 

thairnews: