พระดำรัส “สมเด็จพระสังฆราช” ถวายพระพรแด่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 ส.ค.

0
1064

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระดำรัสถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 ส.ค. 2563 ความว่า อภิลักขิตสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ของสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง อาตมภาพในนามคณะสงฆ์ ขอตั้งกัลยาณจิต สำแดงความปีติโสมนัสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษามาโดยสวัสดี นับถึงบัดนี้ได้ 88 พรรษาบริบูรณ์  สมเด็จบรมพิตร พระราชสมภารเจ้า ทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงต่อปวงพสกนิกร ประดุจแม่ของแผ่นดินเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อทรงนำพาความผาสุกร่มเย็นมาสู่แผ่นดินไทย เป็นเวลาเนิ่นนานหลายทศวรรษ กระแสพระราโชวาทและพระราชดำรัสอันอ่อนหวานจับใจ ล้วนแฝงด้วยพระราชกุศโลบายโน้มน้าวน้ำใจประชาชน ให้ตั้งตนบนวิถีแห่ความดีงาม ให้รู้พากเพียรพยายามคนละไม้คนละมือ ที่จะยึดถือประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนตน สะท้อนความละเอียดอ่อนในพระกมลอันสุขุมคัมภีรภาพ เป็นที่ซาบซึ้งตรึงใจไทยทั่วหน้า พระราชวาจาของพระองค์ จึงได้ชื่อว่าเป็น “วาจาสุภาษิต” เพราะล้วนเป็นไปเพื่อความสำเร็จประโยชน์แก่ประเทศชาติ ปราศจากเหตุเบียดเบียนผู้หนึ่งผู้ใด สมตามนัยแห่งพระพุทธศาสนาสุภาษิตที่ว่า “ตเมว วาจํ ภาเสยฺย ยายตฺตานํ น ตาปเย ปเร จ น วิหึเสยฺย สา เว วาจา สุภาสิตา” แปลความว่า บุคคลพึงกล่าววาจาที่ไม่เป็นเหตุยังตนให้เดือดร้อน และไม่เป็นเหตุเบียดเบียนผู้อื่น, วาจานั้นแล เป็นสุภาษิต.

แม้พระชนมพรรษาซึ่งล่วงไป ยังให้พระพลานามัยผ่อนลงตามกาล หากพระราชปณิธานเพื่อประโยชน์สุขของปวงประชา ยังปรากฏชัดอยู่ในพระราโชวาทและพระราชดำรัสทุกองค์ และยังสถิตมั่นคงอยู่ในพระราชจริยาของพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดา ผู้ทรงมุ่งมั่นสืบสานพระราชกรณียกิจ สร้างสรรค์ความเจริญวัฒนาของประชาชาติไทยมาตราบเท่าทุกวันนี้ ณ อุดมมงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา จึงขอประชาราษฎร จงสามัคคีร่วมใจกันสนองพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการประพฤติตนเสมือนลูกที่ดี เป็นผู้คิดดี พูดดี และทำดี เพื่อ “แม่แห่งชาติ” จักได้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงเบาพระราชหฤทัย ว่าลูกไทยของพระองค์ล้วนมีสติสำนึกรู้อยู่ในคุณธรรม พร้อมเป็นกำลังของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์สืบไป