พช. เร่งเครื่องพัฒนาพื้นที่ต้นแบบทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นศูนย์เรียนรู้นำประชาชนพ้นวิกฤต

0
1075

วันที่ 17 เมษายน 2563 เวลา 13.30 น. กรมการพัฒนาชุมชน(พช.) ได้จัดการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) มอบนโยบายการขับเคลื่อนหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจในการขับเคลื่อนงานฯ แก่เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน 76 จังหวัด และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่ง โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในเรื่อง โคกหนองนา โมเดล ประกอบด้วย ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ผู้บุกเบิกการประยุกต์ทฤษฎีใหม่สู่โคกหนองนาโมเดล ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบพื้นที่โคกหนองนาโมเดล รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ปรึกษากรมการพัฒนาชุมชน และนายเอก วรรณประทีป รองผู้อำนวยการ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) มาร่วมให้แนวทาง หลักการ ในการขับเคลื่อนงานฯ ให้สามารถทำได้จริงอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินโครงการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยดำเนินการใน 2 ระดับ คือ ระดับครัวเรือน รณรงค์ให้ทุกครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และระดับอาชีพ คือ การส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการที่ดิน เพื่อให้เกิดอาชีพที่ยั่งยืน โดยนำหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้ประชาชนทุกหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ครอบครัว ได้ดำเนินการเป็นแบบอย่างในการบริหารจัดการที่ให้มีการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกพืชอาหาร แหล่งน้ำ และที่อยู่อาศัย อย่างสมดุลให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง เพื่อช่วยให้ประชาชนและชุมชนทุกแห่งสามารถผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ได้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์มาช่วยให้ความรู้และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยในส่วนกรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการ คือ โครงการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ จำนวน 33 จุด,  โครงการพัฒนาอาชีพครัวเรือนต้นแบบฯ มีกลุ่มเป้าหมาย 1,500 คน จากผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง 1,100 คน และเครือข่ายเพิ่มเติมอีก 400 คน ซึ่งคนเหล่านี้จะกลายเป็นครูพาทำ หรือปราชญ์ชาวบ้านต่อไป กิจกรรมเอามื้อสามัคคี จัดทำคู่มือและสื่อการเรียนรู้มัลติมีเดีย และโปรแกรมสำรวจพื้นที่ ตรวจติดตามครัวเรือนต้นแบบ

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า ในสถานการณ์วิกฤตในปัจจุบัน ทำให้คิดถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงทุ่มเทพระวรกายทรงงานหนัก เพื่อหวังให้ชนบท เป็นที่พึ่งในยามวิกฤต แต่คนส่วนใหญ่มักไม่เชื่อ กลับทิ้งชนบทมาอยู่เมือง เพียงหวังจะมีเงินซื้ออาหารกิน สุดท้ายวันนี้โลกเจอวิกฤตแล้ว จึงเห็นความสำคัญของชนบทที่เป็นที่พึ่งทางอาหารได้ รวมทั้งการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ทั้งอาหารพอเพียง อากาศพอเพียง มีน้ำพอเพียง และมีที่อยู่อาศัยพอเพียง สามารถเป็นที่พึ่งพิงให้คนทั่วไปได้ โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง โดยขับเคลื่อนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีทฤษฎีใหม่กว่า 40 ทฤษฎี โดยในครั้งนี้มุ่งไปที่ทฤษฎีใหม่ “วิธีปฏิบัติของเกษตรกรที่มีที่ดินจำนวนน้อย” โดยเริ่มจากการจัดการที่ดินอย่างไร จะนำน้ำฝนที่ตกลงมาเก็บทั้งหมดได้อย่างไร ซึ่งกรมฯ กำลังมีโครงการขับเคลื่อนทฤษฎีใหม่นี้อยู่ โดยขอฝากถึงฟันเฟืองในการขับเคลื่อน นั่นคือ นักพัฒนาว่า หากจะเป็นนักพัฒนาชุมชนมืออาชีพได้ต้องแม่นยำในทฤษฎี หมั่นศึกษาพัฒนาตนเอง เพื่อสืบสาน รักษา และนำทฤษฎีไปต่อยอดได้  และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่กรมฯ มีจุดเด่นอยู่แล้ว คือการประสานภาคีเครือข่ายมาร่วมทำงาน เพื่อให้การขับเคลื่อนมีพลัง อีกทั้งต้องมีตัวอย่างทำให้เห็น เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเอง เข้าไปพาชาวบ้านทำ ไปบอกเทคนิคว่าทำได้จริง อาทิ แนะนำวิธีเก็บน้ำ หรือ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นต้น สุดท้ายได้ฝากให้เตรียมตัวไว้ว่า ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ต้องตามศึกษาให้ทัน แล้วเตรียมพร้อมอย่างมืออาชีพ การจะทำให้ประเทศมั่นคงได้ ชุมชนต้องมั่นคงแข็งแรง

“ผมเชื่อมั่นว่าหากชาวพัฒนาชุมชนร่วมใจกันนำพาชาวบ้านปฏิบัติอย่างจริงจัง เราจะมีป่าเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างมากมาย เราจะมีแหล่งน้ำกระจายอยู่ทั่วประเทศอย่างเพียงพอและยั่งยืน และเราจะมีความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” ดร.วิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ด้าน ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านสถาปนิก และช่วยในการออกแบบพื้นที่ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนจะลุกขึ้นมาเป็นที่พึ่งของคนทั้งประเทศจะต้องทำได้อย่างไร คำตอบคือต้องทำด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือต้องร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืนโลก ซึ่งกรมฯ มีพันธกิจหลัก คือการพัฒนาคน ซึ่งได้มีการดำเนินการร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชนจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงและการอบรมการออกแบบเชิงภูมิสังคมเพื่อการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติ โดยใช้ชุดความรู้ทฤษฎีใหม่ ผสมกับนวัตกรรมเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ได้ผู้นำและเครือข่ายที่พร้อมจะนำผลสำเร็จไปขยายต่อ สร้างพลังในการขับเคลื่อน แบบเชื่อมโยงกัน จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ยึดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ สร้างความมั่นคงในเรื่องอาหาร น้ำ และพลังงาน อาทิ 1 ไร่ ช่วยลดรายจ่าย, 3 ไร่ พึ่งพาตนเองได้ และ 5 ไร่ ช่วยสร้างรายได้ เป็นต้น โดยเป้าหมาย คือ มีศูนย์เรียนรู้ต้นแบบบริหารจัดการน้ำ ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และจะทำให้สามารถปลูกป่าและเก็บน้ำได้มาก

ส่วน รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะเอาความต้องการของชาวบ้านมาทำให้สอดคล้องกับงบประมาณแผ่นดิน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เป็นวิถีชีวิตของคนไทย และมีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมเครือข่ายมากมายทั่วประเทศ มาช่วยกันขับเคลื่อน เป็นพลังเกาะเกี่ยวเชื่อมร้อย ซึ่งจะต้องจับมือกันทำให้เกิดขึ้นจริง ทำภาพเล็ก ๆ ทำจุดเล็ก ๆ ให้ต่อเนื่องเป็นภาพใหญ่ที่ยั่งยืน ดังโครงการของ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ที่ว่า “เล็ก เปลี่ยน โลก”

ในตอนท้ายของการประชุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนได้ฝากเชิญชวนเจ้าหน้าที่และเครือข่ายให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก Facebook กลุ่ม “ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรัก กับ พช.” ซึ่งคำว่า กับ พช. คือพัฒนาชุมชนเป็นผู้ประสานร่วมกับทุกหน่วยงาน ทบวง กระทรวง กรม และเอกชน ขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงทางอาหาร การมีพืชผักสวนครัวที่ปลอดภัยทำอาหารกิน หรือทำให้คนไทยมีอาหารเป็นยา และมีความรักความสามัคคีในครอบครัว โดยขอให้ช่วยกันเชิญชวนประชาชนมาเข้าร่วมเป็นสมาชิก เพื่อช่วยกันแชร์ภาพความสุขแห่งการปลูกพืชผักสวนครัว หรือต้นไม้อื่น ๆ  เพื่อเป็นแรงสั่นสะเทือนให้กับสังคมต่อไป

 

สถานีข่าว พช. CNS รายงาน