พช.เดินหน้าระบบ GIS ชี้เป้าหมู่บ้านคนรักษ์ช้าง แก้ปัญหาผลกระทบคนกับช้างป่า ต่อยอดเชื่อมโยงข้อมูลทุกมิติ

0
360

ส่งเสริมเครือข่ายการป้องกัน เฝ้าระวัง พร้อมหนุนเสริมอาชีพ ผสานสมดุลคนกับช้างป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

วันนี้ (25 มีนาคม 2564) ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงมีพระประสงค์ที่จะช่วยเหลือทั้งคนและช้าง ตามพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา และต่อยอด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการจัดการความขัดแย้งของคนกับช้างป่า และการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน จากปัญหาความรุนแรงของช้างป่าที่ได้รับความเดือดร้อน จากการที่ช้างลงมาหากินและทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านใช้วิธีขับไล่ช้างผิดวิธี ยิ่งทำให้ช้างเกิดความดุร้ายมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องหันมาใส่ใจชุมชนให้ความรู้ที่ถูกต้องในการขับไล่ช้าง รวมทั้งศึกษานิสัยพฤติกรรมของช้าง จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนโครงการพัชรสุธาคนุชานุรักษ์ อันเป็นโครงการป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว เพื่อฟื้นฟูแหล่งอาหาร แหล่งน้ำให้เพียงพอในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อนำช้างกลับเข้าสู่ป่า โดยใช้ความร่วมแรงรวมใจของทุกฝ่ายในการนำช้างกลับเข้าสู่ป่า ไม่ว่าจะเป็นชุมชน จิตอาสา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้ามาช่วยกันฟื้นฟูพัฒนาแหล่งอาหารของช้างให้มีความอุดมสมบูรณ์

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย ได้มีภารกิจในการขับเคลื่อนโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า รวมทั้งการอนุรักษ์ พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System) หรือ GIS เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บสารสนเทศชุมชน หมู่บ้านคชานุรักษ์ หมู่บ้านขยายผล และหมู่บ้านได้รับผลกระทบ เชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ ทั้งพิกัดชุมชน ข้อมูลชุมชน ผู้นำชุมชน แหล่งท่องเที่ยว สถานการณ์ช้าง การป้องกัน เฝ้าระวัง องค์ความรู้ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมอาชีพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มอาชีพของชุมชน สมาชิกกองทุนคชานุรักษ์ พร้อมข้อมูลอาสาสมัคร และเครือข่ายภาคีต่างๆ ในหมู่บ้านคนรักษ์ช้าง ทั้งนี้ นอกจากจะเป็น GIS ที่จัดเก็บสารสนเทศสำคัญของชุมชนทั้ง 5 จังหวัดแล้ว ยังคาดหวังให้เกิดการให้บริการและใช้ประโยชน์ข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์แก่ผู้ใช้บริการ และเป็นการส่งเสริมเครือข่ายชุมชน องค์กร และภาคีในการใช้ข้อมูลในการพัฒนาชุมชนร่วมกัน

ในโอกาสนี้ นายธีระชัย ลิ้มประเสริฐศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วย นางสาวทิพพรรณ ไชยูปถัมภ์ ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน และ นายถวิล ยี่สุ้นแสง พัฒนาการจังหวัดสระแก้ว นายตุลยวัตร นกอยู่ พัฒนาการอำเภอวังน้ำเย็น นักวิชาการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสระแก้ว และคณะ เข้าร่วมการจัดเวทีสนทนากลุ่ม (Focus Group) ของผู้นำชุมชน ประชาชน เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์กลุ่มอาชีพในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ณ บ้านคีรีเขตพัฒนา หมู่ที่ 26 ตำบล ทุ่งมหาเจริญ อำเภอ วังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว พร้อมทั้งร่วมกับผู้นำชุมชนในการใช้งานระบบ GIS เพิ่มเติมความสมบูรณ์ของข้อมูล GIS ด้วยชุมชนเองด้วย

นายอารยันต์ ท่าใหญ่ นายอำเภอวังน้ำเย็น เปิดเผยว่า ได้มีการสอบถามข้อมูลผลกระทบ จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับคนในชุมชน ในด้านความเสียหาย จากการที่ช้างป่าบุกรุกเข้ามาทำลายพืชผักผลไม้ของชาวบ้าน จนไม่สามารถเข้าไปทำมาหากินได้ หรือบางรายก็ถูกช้างป่าทำร้ายจนสูญเสียชีวิต ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการใช้วิธีไล่ช้างแบบผิดๆ จนทำให้ช้างป่าเกิดอาการตกใจและเข้ามาทำร้ายคนในพื้นที่ และอีกสาเหตุหนึ่งคือ การที่ช้างต้องออกจากป่ามาหากินในชุมชน ก็เพราะว่าสภาพป่าที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ขาดแหล่งอาหารที่เพียงพอในการหล่อเลี้ยงชีวิต จึงทำให้ช้างป่าออกมาหากินในหมู่บ้าน ดังนั้น พวกเราทุกคนจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาดังกล่าว ร่วมกันสร้างองค์ความรู้ เสริมทักษะ ใช้พื้นที่หมู่บ้านเป็นศูนย์กลางการบูรณาการแก้ไขปัญหา เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้างอย่างเป็นรูปธรรม และได้มีการมอบถุงยังชีพเบื้องต้น พร้อมทั้งสั่งการให้ทุกภาคส่วนช่วยบูรณาการให้ความช่วยเหลือเยียวยาทั้งทรัพย์สินบ้านเรือน ต้นไม้ในสวน แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างเร่งด่วน

นายตุลยวัตร นกอยู่ พัฒนาการอำเภอวังน้ำเย็น ได้พาคณะทำงานศูนย์สารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ เพื่อนำเสนอผลการบันทึกข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์หมู่บ้านคชานุรักษ์ (GIS) และได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัว แก่ผู้เข้าร่วมสนทนา (Focus Group)  เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ณ บ้านคีรีเขตพัฒนา หมู่ที่ 26 ตำบล ทุ่งมหาเจริญ อำเภอ วังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว  ซึ่งเป็นหมู่บ้านขยายผลที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า และยังเป็นหมู่บ้านที่ได้รับงบประมาณโครงการสัมมาชีพชุมชน จึงได้มีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสอบถามข้อมูล เกี่ยวกับสถานการณ์ช้างป่า วิธีการแก้ไขปัญหา และร่วมรับฟังปัญหา วางแผนการดำเนินงานร่วมกัน

จากการสัมภาษณ์ นายประการ อิศรี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 15 เพื่อเก็บข้อมูลสถานการณ์ช้างป่า ในการบริหารจัดการของผู้นำชุมชน หากมีผลกระทบดังกล่าว ทีมอาสาสมัครจะมีการแจ้งเตือน สร้างความรู้ ความเข้าใจในการเผชิญหน้ากับช้างป่าให้กับชาวบ้านในหมู่บ้าน พร้อมทั้งรายงานสถานการณ์ในเครือข่ายคนรักษ์ช้างอย่างต่อเนื่อง มีการสอบถามสถานการณ์ช้างป่า วิธีการแก้ไขปัญหา ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ และวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน รวมถึงชี้แจงการดำเนินงานของจังหวัดต่อการแก้ไขปัญหาช้างป่าที่เข้ามาในหมู่บ้าน การเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าว รวมถึงปัจจุบัน พบว่า มีปัญหาช้างสีดอแก้วที่หลุดจากการกักกันที่หมู่ที่ 26 ออกเดินทางมาจนถึงหมู่ที่ 15  เข้าไปหาอาหารในสวนผลไม้ของชาวบ้าน แม้ช้างจะมีความคุ้นเคยกับชาวบ้านพอสมควร แต่ยังต้องระมัดระวังการเผชิญหน้าเพราะ หากทำให้ช้างตื่นตระหนก ก็อาจไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งชุดอาสาผลักดันช้างป่าได้มีความพยายามผลักดันให้ช้างสีดอแก้วอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำและอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อลดความขัดแย้งกับชุมชนทำให้ชาวบ้านในชุมชนและช้างป่าอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือของผู้นำและจิตอาสา เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปพร. ผู้นำชุมชน ซึ่งมีความรู้ ประสบการณ์ในการเผชิญหน้าและการผลักดันช้างป่าเป็นอย่างดี แต่ถึงอย่างไรก็ต้องมีการเฝ้าระวังควบคู่ไปกับการเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การส่งเสริมอาชีพแก่พี่น้องในชุมชนให้เหมาะสม ตามสภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องพฤติกรรมช้าง พัฒนาอาชีพ และสร้างระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน และเตือนภัย

คณะทำงาน จึงได้มีการนำเสนอผลการบันทึกข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์(GIS) ในการใช้ประโยชน์ เพื่อต่อยอดเชื่อมโยงเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน เฝ้าระวัง การส่งเสริมอาชีพ และอื่นๆ ซึ่งจะสามารถใช้งานได้ง่ายบนโทรศัพท์มือถือได้ รวมถึงได้เพิ่มพิกัดและปรับปรุงข้อมูลของหมู่บ้านขยายผล หมู่ที่ 15 บ้านหนองเรือ ตำบล ทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น ซึ่งเป็นจุดพื้นที่เสียหายจากสวนกล้วย ที่ช้างสีดอแก้ว กำลังเดินลัดเลาะในชุมชน สามารถทำให้ชาวบ้านสามารถเฝ้าระวัง ป้องกัน จากปัญหาดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว

“กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงได้ขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก โดยเฉพาะการพัฒนา หมู่บ้านคนรักษ์ช้าง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้มีการสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจของพี่น้องประชาชน พัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ รวมทั้งการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากการกระทำของช้างป่า โดยใช้กลยุทธ์ “คนรู้จักช้าง คนเข้าใจช้าง คนรักษ์ช้าง และคนอยู่ร่วมกับช้าง” ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน สนับสนุนการพัฒนาหมู่บ้าน สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม โดยใช้ระบบ GIS ต่อยอดเชื่อมโยงข้อมูลทุกมิติและส่งเสริมเครือข่ายในการป้องกัน เฝ้าระวัง และการพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มอาชีพของชุมชนได้อย่างยั่งยืนตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชรมหาวัชรราชธิดา ต่อไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวยืนยัน