พช. – รฟท. ร่วมหารือแนวทางบูรณาการ “โคก หนอง นา โมเดล” ขจัดความยากจน

0
259

หนุนสร้างเส้นทาง 2 ข้างราง สู่ Landmark แห่งใหม่ เพื่อชีวิตมั่นคง ครอบครัวมั่งคั่ง ชุมชนยั่งยืน

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หารือการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) โดยมี นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน นางสาวนิภา ทองก้อน ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และผู้บริหาร กรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย นายไพบูลย์ สุจิรังกุล วิศวกรใหญ่ฝ่ายการช่างโยธา และคณะผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย , มล. อภิชิต วุฒิชัย ร่วมในการประชุม ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (video conference) ด้วยโปรแกรม zoom cloud meeting

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวทางพระราชดำริ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องชาวไทยอย่างยั่งยืน โดยพระองค์ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานโครงการ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” และภาพวาดฝีพระหัตถ์ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความสุข ความหวัง ความรัก และความสามัคคี ที่เกิดขึ้นในครอบครัว อันเป็นเครื่องยืนยันถึงพระราชหฤทัยและสายพระเนตรอันยาวไกลที่ทรงห่วงใยต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าของพระองค์ โดยมีพระบรมราโชบายให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการประกอบสัมมาอาชีพได้อย่างพอเพียง

กรมการพัฒนาชุมชน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ เป็นหัวใจหลักเชื่อมโยงในทุกภารกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) และสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยให้อยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของความสมดุลพอดี และความพอประมาณอย่างมีเหตุผล ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยเชื่อมั่นว่า ปัญหาความยากจนเป็นเรื่องที่สามารถร่วมกันแก้ไขได้ โดยอาศัยการบูรณาการการทำงาน ร่วมกับทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ดึงศักยภาพจุดแข็งของแต่ละหน่วยงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อขจัดปัญหาความเดือดร้อนที่ยืดเยื้อยาวนาน อาทิ ปัญหาหนี้สิน ทั้งในระบบและนอกระบบ ปัญหาเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติที่ทำกิน ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาเกี่ยวกับอาชีพ และการมีงานทำ เป็นต้น กลไกหลักคือการพัฒนาที่เริ่มจากตัวคน สร้างความเข้มแข็งจากภายใน ไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในมิติสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติต่อไป

ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา กรมการพัฒนาชุมชน ได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฏีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จนเกิดแหล่งเรียนรู้ 32 แห่ง ผู้นำต้นแบบ 1,500 คน  และเครือข่าย 22,500 คน  และในปี 2564 การดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ใน 11,141 หมู่บ้าน ปัจจุบันโครงการ “โคก หนอง นา พช.” มีผู้สนใจเข้าสมัครแล้วกว่า  35,503 ครัวเรือน และจ้างงานสำหรับผู้ได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) จำนวน 9,157 ราย และเกิดการพัฒนาเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับประชาชนครอบคลุมทุกภูมิภาค 76 จังหวัด ซึ่งการก้าวเข้ามาของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการบูรณาการกับกรมการพัฒนาชุมชน ต่อจากนี้ เชื่อว่าด้วยศักยภาพ ที่เชื่อมโครงข่ายการขนส่งมวลชนทุกภูมิภาค คู่กับสังคมไทยมาช้านาน เส้นทาง 2 ข้างรางรถไฟ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะอยู่ในภูมิสังคมใด จะเป็นการสร้างสรรค์สิ่งดีงามเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ให้เป็นประจักษ์ ที่นอกจากการพัฒนาพื้นที่เพื่อช่วยให้ผู้ยากไร้ ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน สร้างอาชีพ สร้างผลผลิต ก่อเกิดรายได้ มีความมั่นคงในชีวิตแล้ว ผลพลอยได้อีกประการคือ เกิดความสวยงาม ในเส้นทางที่จะเล่าเรื่องราววิถีชีวิต อัตลักษณ์ของชุมชน ท้องถิ่น เกิด Landmark ที่จะช่วยส่งเสริมในธุรกิจการท่องเที่ยว และยังเกิดพื้นที่สร้างความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่ชุมชนสองข้างทางรถไฟในอนาคตอีกด้วย

รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ กล่าวเสริมว่า ด้วยวิสัยทัศน์ เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565 เป็นดังหมุดหมายสำคัญ ที่กรมการพัฒนาชุมชน ขับเคลื่อนสร้างสรรค์ให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยทุกกิจกรรม โครงการ มุ่งสนองพระราชปณิธาน และพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อสร้างสุขให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่า และตอบโจทย์การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กุญแจสำคัญของกรมการพัฒนาชุมชน คือการขับเคลื่อนผ่านกลไกกานขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาเพื่อการปฏิรูปประเทศ หรือ กลไก 3-5-7 ที่จะช่วยหนุนเสริมให้การขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของโลกได้ทั้ง 17 ข้อ โดยเน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นแกนกลาง โดยการร่วมบูรณาการเพื่อเสริมกลไกเดิมของภาครัฐที่มีอยู่ ในพื้นที่ 3 ระดับ เป็นอย่างน้อย คือ ระดับชุมชนหรือลุ่มน้ำ ระดับจังหวัดหรือภูมิภาค และระดับชาติ ภายใต้การมีส่วนร่วมของ 5 กลไก ที่จะช่วยหนุนเสริมงานขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ประกอบด้วย กลไกการประสานงานภาคีเครือข่าย กลไกแผนงานและยุทธศาสตร์เชิงบูรณาการ กลไกการติดตามและประเมินผล กลไกการจัดการความรู้ อันเป็นองค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติที่ต้องนำมาจัดทำเป็นตำราหรือคู่มือเฉพาะในแต่ละพื้นที่ และกลไกการสื่อสารสังคมให้รับรู้ ร่วมด้วย การบูรณาการของ 7 ภาคี คือ ภาครัฐที่ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ กฎหมาย รวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ ภาควิชาการและสถาบันการศึกษา ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน

การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ “โคก หนอง นา” ของกรมการพัฒนาชุมชน นั้น มีนัยยะสำคัญที่มากกว่าการเกษตร แต่คือกระบวนการขับเคลื่อนอบรมบ่มเพาะจนเกิดการเปลี่ยนวิธีคิด (Mind Set) ให้ “ระเบิดจากข้างใน” ให้เป็นมนุษย์พอเพียง ที่สามารถจัดการฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า ด้วยทฤษฎีใหม่ด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างความ “พอมี พอกิน” ให้กับทุกคน ซึ่งจากการดำเนินการอย่างจริงจังมาตลอดตั้งแต่ปี 2563 รูปธรรมที่เกิดขึ้นในวันนี้ ในเชิงวิชาการ เราจึงมีทั้ง สื่อ/คู่มือ/หลักสูตร วิทยากร ครูพาทำ แหล่งเรียนรู้ที่ครอบคลุมทุกภูมิภาค 76 จังหวัด ในเชิงการพัฒนาคนมากกว่า 3 หมื่นครัวเรือน เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น และสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดรายจ่าย และลดความเหลื่อมล้ำ เหล่านี้จึงถือเป็นความพร้อมในระดับหนึ่ง ที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการร่วมจับมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการร่วมสร้างโมเดลในการพัฒนาพื้นที่ โดยหลักทฤษฎีใหม่ ที่กรมการพัฒนาชุมชน และภาคีเครือข่าย เชื่อมั่นว่าจะสามารถพลิกโฉมเส้นทางนำประโยชน์มาสู่ผู้ยากไร้ ผู้มีความตั้งใจจริงในพื้นที่ และบรรลุไปถึงการสร้างความก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศร่วมกันทุกฝ่าย และที่สำคัญอีกอย่าง คือ ยังเป็นการมอบโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในองค์กร ตลอดจนสหภาพแรงงานการรถไฟได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล กล่าวว่า ความสำคัญในการสร้างความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย นั้น คือความพยายามไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน องค์การสหประชาชาติ (UN) ทั้ง 17 ประการ และสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในการให้ความสำคัญกับวิถีชีวิต การสร้างงาน สร้างรายได้ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยอย่างยั่งยืน ด้วยศักยภาพหลักของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เข้าถึงทุกภูมิภาคมามากกว่าร้อยปี เชื่อมโยงทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคทั้งอาเซียน และภูมิภาคเอเซีย รวมไปถึงเป็นส่วนสำคัญใน“เส้นทางสายไหมใหม่” (New Silk Road) แบ่งเป็นเส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt : One Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road : One Road) มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเข้าด้วยกัน จะเห็นได้ว่าเส้นทางการคมนาคมล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างการยกระดับ พัฒนา ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ทั้งการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานีและเส้นทาง นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ซึ่งคุณค่าของการเดินทางโดยรถไฟวันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การขนส่งมวลชน แต่ยังขยายรวมไปถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวตั้งแต่สถานีต้นทาง ระหว่างการเดินทาง ไปจนถึงจุดหมายปลายทาง

การพัฒนาตามหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ คือการพัฒนาที่อิงหลักการที่สอดคล้องกับภูมิสังคม ดังที่สามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาซ้ำซากในเรื่องดิน น้ำ ป่า ได้อย่างเห็นผลในหลากหลายพื้นที่ ฉะนั้น จึงสามารถต่อยอดมาสู่การออกแบบพื้นที่ ที่เหมาะสมเฉพาะของการรถไฟได้  ด้วยสมรรถนะขององค์การ ศักยภาพของบุคลากร และเครื่องมือต่าง ๆ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เชื่อมั่นได้ว่าในพื้นที่การดำเนินงานที่จะได้สำรวจคัดสรรเข้าร่วมโครงการในลำดับต่อไป จะเป็นต้นแบบทางด้านความยั่งยืนในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวในระดับที่เหมาะสมกับชุมชน สามารถเป็นที่พึ่งให้กับชุมชนได้อย่างแน่นอน

ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มุ่งเน้นการดำเนินงานที่มากกว่าการบริการ โดยขยายภารกิจไปสู่การสร้างประโยชน์เชิงสังคม ตอบสนองนโยบายของรัฐในการพัฒนา ตัวอย่างโครงการดังกล่าว คือ โครงการเกษตรริมราง (รถไฟ) โดยได้แบ่งเนื้อที่ 2 ข้างราง ให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์เพาะปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ดอก โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด สามารถสร้างโอกาส สร้างรายได้ ให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี การประชุมร่วมกันในครั้งนี้ จึงเป็นนิมิตรหมายอันดีในการบูรณาการนำสรรพกำลัง มาช่วยกันเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนที่มีขอบเขตกว้างมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย มีระยะทางที่เปิดการเดินรถไฟ รวมทั้งสิ้น 4,346 กิโลเมตร ที่โยงใยทุกภูมิภาค ดังนั้น ภายในระยะ 1 เดือน ต่อจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย จะได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ 2 ข้างราง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่แนวยาว โดยจะพิจารณาถึงความเหมาะสม หรือความพร้อม เพื่อจัดลำดับความสำคัญเข้าร่วมในโครงการฯ รวมถึงที่ดินในพื้นที่ใกล้เคียงกับการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือนอกสถานีอีกด้วย

การรถไฟแห่งประเทศไทย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ นวัตกรรม ทรัพยากร โดยจะร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ในการหนุนสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน อย่างเป็นรูปธรรมให้กระจายไปทั่วทุกตารางนิ้วของประเทศไทย ที่สำคัญอย่างที่สุด คือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พัฒนาคน ให้คนกลับไปพัฒนาบ้านเกิดอย่างเต็มภาคภูมิ เพื่อเป็นอีกต้นแบบหนึ่งในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาลต่อไป