พช.จัดงานแถลงข่าว “โครงการสืบสานภูมิปัญญา OTOP ผ้าไทย และเผยแพร่อัตลักษณ์ผ้าแห่งสยาม”

0
436

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กำหนดจัดงานแถลงข่าว “โครงการสืบสานภูมิปัญญา OTOP ผ้าไทย และเผยแพร่อัตลักษณ์ผ้าแห่งสยาม” โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนให้เกียรติเป็นผู้แถลงข่าวครั้งนี้ ในวันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม 2563 ณ ลานเอนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B)

กรมพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ดำเนินการสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาผ้าไทยโดยเสมอมา เกิดการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรม ภูมิปัญญารักษาขนบประเพณี ส่งผลให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการในชุมชน อันเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ให้มีความมั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำให้เกิดการหมุนเวียนในห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจระดับประเทศ และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณกรมการพัฒนาชุมชนได้สืบสานภูมิปัญญาและอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) กับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ขึ้น ลงนาม MOU ร่วมกับ 76 จังหวัดและกทม.ในการสวมใส่ผ้าไทย และกรมการพัฒนาชุมชนเองก็ได้พลักดันมาตรการสวมใส่ผ้าไทย จนเป็นมติคณะรัฐนมตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย จนเกิดการรณรงค์ให้คนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยอาทิตย์ละสองวัน

ประกอบกับในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ประเทศไทยอยู่ในวิกฤติ ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อรายได้ของผู้ประกอบการผ้าในท้องถิ่นชุมชน ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ดังนั้น การรณรงค์กระตุ้นให้เกิดค่านิยมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าทอพื้นเมือง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนไทยจะก่อให้เกิดรายได้กระจายสู่ชุมชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง รวมไปถึงการเร่งพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ให้มีความสามารถในการผลิต การออกแบบ การตัดเย็บ การดีไซน์ผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และตลาดออนไลน์ เพื่อให้เกิดการค้าเชิงพาณิชย์ อันจะทำให้เกิดรายได้ ความมั่นคงในชีวิต วิถีชุมชนยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ได้รับนโยบายจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเฉพาะผ้าไทย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญา การพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีคุณภาพมาตรฐานสูงขึ้น เป็นการสร้างคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม พัฒนาศักยภาพและยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ในการพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สามารถขยายตลาดเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น เสริมสร้างภาพลักษณ์ การรับรู้คุณค่าของผลิตภัณฑ์ OTOP สู่ระดับสากล และเพื่อขยายการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ OTOP ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  และตลาดออนไลน์โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ดีไซน์ใหม่ ๆ และเกิดไอเดียใหม่จากการมองผ้าท้องถิ่น อยากจะนำเสนอผ้าแต่ละถิ่นที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันให้มาอยู่เป็นผ้าพื้นเดียวกัน  และดีไซน์ออกแบบให้ดูทันสมัย สวมใส่ได้ในทุกโอกาส จะเป็นการเพิ่มมูลค่าของผ้าไทย  และเป็นการรวบรวมอัตลักษณ์ของผ้าแต่ละถิ่นให้เกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้จะมีการจัดสัมมนาให้องค์ความรู้ ด้วยการหาวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและการเพิ่มมูลค่า ไปให้ความรู้กับคนในชุมชน  เพื่อเป็นการพัฒนาทั้งในเรื่องของดีไซน์ และช่องทางการขาย ให้หลากหลายมากขึ้น

ทั้งนี้การดำเนินงานของโครงการ “สืบสานภูมิปัญญา OTOP ผ้าไทยและเผยแพร่อัตลักษณ์ผ้าแห่งสยาม” ได้เริ่มดำเนินงานมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการสังเคราะห์ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ที่เด่น ๆ ของผ้าไทย ลายผ้าที่เป็นที่นิยม การย้อมสีธรรมชาติ แนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มของผ้าไทย จากการรวบรวมข้อมูล การลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ประกอบการ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ควบคู่ไปกับการอบรม สัมมนาเชิงปฏิบัติ กับผู้ประกอบการผ้าไทยทั่วประเทศ กว่า 300 กลุ่ม/ราย เพื่อเป็นการจัดทำฐานข้อมูลที่สำคัญของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ และมีการลงพื้นที่ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ เพื่อให้ความรู้ แนวทางการพัฒนาศักยภาพ แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และรายละเอียดแผนงานให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ อุดรธานี นครราชสีมา กรุงเทพ เชียงใหม่ พิษณุโลก และสงขลา โดยได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีโดยมีนักวิชาการ นักออกแบบแฟชั่นชั้นนำของเมืองไทยและมีผลงานในระดับโลกมาร่วมเป็นวิทยากร ต่อจากนั้นดีไซน์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ และการตลาดจึงได้มีการวาง PRODUCT CONCEPT จัดทำร่างแบบ Sketch วางรูปแบบ ลาย โทนสี คู่สี วัสดุที่ใช้ โดยนำอัตลักษณ์ของแบรนด์และจุดเด่นของภิปัญญามาสร้างเป็นจุดดึงดูดทางการตลาดและออกแบบคอลเลคชั่นใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทำการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในกระบวนการผลิตตามข้อมูลผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ดีไซน์เนอร์ชื่อดัง 60 ท่านทำการออกแบบและให้คำแนะนำการผลิตชิ้นงานต้นแบบจาก 300 ผู้ประกอบการมีการจัดทำ E-Catalogue 300 ผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการขายผ่านระบบออนไลน์ และมีการจัดแสดง 40 ผลงานที่โดดเด่นในรูปแบบแฟชั่นโชว์ชุดพิเศษสุดในงานกาล่าไนท์ เสน่ห์สีสัน แพรพรรณ แห่งสยาม ในวันที่ 18 ธันวาคม นี้ ณ ห้องรอยัลจูบิลลี่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเดินแบบโดยนางแบบแฟชั่นชั้นนำของเมืองไทย

นอกจากนี้นายสุทธิพงษ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า โครงการนี้ยังมีการออกร้านจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์จากผ้าไทย ในวันที่ 16-18 ธันวาคมนี้ ณ ศูนย์ราชการอาคารบี ก็ขอเชิญชาวนทุกท่านมาซื้อหาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยซึ่งมีความหลากหลาย ทั้งชุดแฟชั่น ชุดกลางวัน ชุดเดรสกลางคืน ผ้าอัตลักษณ์ ผ้าผืน ผ้าซิ่น ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋า รองเท้า หมวก เครื่องประดับจากผ้า กลุ่มเคหะสิ่งทอและอื่นๆ เรียกได้ว่าเป็นงานรวมมหกรรมผ้าไทยที่หลากหลายที่สุดแห่งปี ผมขอเชิญชวนทุกท่าน ร่วมกันส่งเสริม อุดหนุน เป็นแรงใจ และร่วมให้การสนับสนุนผ้าไทยให้มีอนาคตที่สดใส อยู่คู่คนไทยและประเทศไทยของเราตลอดไปครับ