“พงศ์พร” เผย บก.ปปป.ตรวจพบทุจริตงบฯวัด ชี้ผู้มีสิทธิ์เบิกจ่ายบัญชีวัดต้องรับผิดชอบ หากข้าราชการพศ.เกี่ยวข้องจะถูกสอบวินัยร้ายแรง

0
1501

 

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ห้องประชุมอาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ พุทธมณฑล จ.นครปฐม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเป็นประธานการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) ครั้งที่ 5/2560 โดยมีพ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เลขาธิการมหาเถรสมาคม เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ โดยพ.ต.ท.พงศ์พร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ตามที่ตนได้แถลงข่าวในวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ ประธานคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะเข้ากราบทูลถวายสักการะสมเด็จพระสังฆราช และกรรมการมส. พร้อมจะหารือพศ.ในเรื่องการจัดการทรัพย์สินของวัดด้วยนั้น ทางพล.ต.อ.พิชิต ได้ทำหนังสือแจ้งมาทางพศ.ว่า มีกำหนดจะเข้าสักการะมส.ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ ส่วนการประชุมมส.วันนี้ไม่ได้มีการหารือเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดแต่อย่างใด ส่วนที่กมธ.ศาสนาฯ จะมาพบมส. และเรื่องการจัดการทรัพย์สินของวัดนั้นถือเป็นประเด็นร้อนในสังคม จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะมีการหารือเรื่องดังกล่าวได้ ส่วนระบบการจัดการบัญชีทรัพย์สินของวัดที่ใช้ในขณะนี้ยังยึดกฎกระทรวงศึกษาธิการฉบับที่ 2 พ.ศ. 2511 ออกตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โดยเจ้าอาวาสเป็นผู้จัดการ ไวยาวัจกร เป็นผู้ทำบัญชี และเงินของวัดเกินกว่า 3,000 บาทต้องฝากไว้ที่ธนาคารในนามของวัด ซึ่งมติมส.ปี 2558 ให้วัดส่งรายงานบัญชีทรัพย์สินปีละ 1 ครั้ง ตามที่พศ.กำหนดนั้น พศ.ก็ได้กำหนดเป็นบัญชีรับจ่ายอย่างง่าย และผลการรายงานบัญชีทรัพย์สินวัดประจำปี 2559 จากจำนวนกว่า 40,000 วัด ได้รายงานมาแล้ว 39,000 วัด เกินร้อยละ 80 ส่วนที่พศ.เคยแถลงไปว่า รายงานมา 180 วัดนั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนตนจึงขอกราบอภัยด้วย

 

“พศ.ไม่มีกฎหมายให้อำนาจในการตรวจสอบบัญชีวัดได้ เพียงแต่มีหน้าที่รับรายงานข้อมูลเป็นตัวเลขเพื่อรายงานต่อมส. และขณะนี้ก็ยังไม่มีกฎเกณฑ์ในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของวัด ผู้ที่จะตรวจสอบวัดได้ก็ต้องเป็นพระเจ้าคณะปกครอง ส่วนกรณีกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ บก.ปปป. มีการออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับการทุจริตเงินวัด จำนวน 12 วัด ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนั้น เรื่องดังกล่าวเป็นการทุริตรับเงินทอนการบูรณปฏิสังขรณ์และซ่อมแซมวัด จากที่ได้ยินมากรณีที่เกิดขึ้นที่จังหวัดสงขลา มีการโอนเงินอุดหนุนจากพศ.ไปที่วัดและมีบุคคลไปรับเงินคืนมาจากวัดส่วนหนึ่ง เช่น ให้ทางวัด 1 ล้าน บุคคลรับกลับมา 3 ล้าน จึงเรียกว่า การทุจริตเงินทอน เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการโอนเงินของพศ. จะใช้การโอนผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทยในชื่อบัญชีของวัดเท่านั้น ผู้ที่จะเบิกถอนได้ก็ต้องเป็นเจ้าอาวาสหรือผู้มีอำนาจตามบัญชีที่เปิดไว้ โดยขณะนี้ทางพศ.รอผลการสอบสวนหากมีข้าราชการของพศ.เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการสอบวินัยร้ายแรง บ้านไม่สะอาดก็ต้องทำบ้านเราให้สะอาด ทั้งนี้หากวัดทั่วประเทศมีระบบบัญชีที่มีมาตรฐานก็จะช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ ส่วนในเรื่องของพระที่ถอนเงินจากบัญชีหากพบว่ามีการกระทำผิด ก็ต้องให้พระสังฆาธิการดำเนินการตามพระธรรมวินัย” ผอ.พศ.กล่าว

นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผอ.สำนักงานศาสนสมบัติ พศ. กล่าวว่า ในปี 2560 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) กำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดการปฏิบัติราชการ ให้พศ.รวบรวมบัญชีรายรับ-รายจ่ายตามมาตรฐานของ ก.พ.ร. โดยรอบของปี 2560 จะมีรอบบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึง 30 มิถุนายน 2560 โดยขณะนี้ พศ.ได้ทำหนังสือที่ 0005/01926 เรื่องขอความอนุเคราะห์วัดให้จัดทำบัญชีวัด ส่งถึงเจ้าคณะปกครองทั่วประเทศ พร้อมกับแบบสรุปรายชื่อวัดที่ส่งรายงานทางการเงิน ประจำปี 2560 แบบที่ 1 และแบบสรุปบัญชีรายรับ-รายจ่าย ประจำปี 2560 แบบที่ 2 โดยสำนักงานศาสนสมบัติ ขอให้วัดดำเนินการให้แล้วเสร็จและส่งแบบรายงานดังกล่าวภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ซึ่งการแจ้งบัญชีรายรับ-รายจ่ายของวัดนั้น ถือว่า ดำเนินการมาตามปกติ แต่ในปีนี้การดำเนินการจะถือว่าเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญอยากให้ประชาชนเข้าใจด้วยว่า วัดไม่ได้มีแต่เพียงรายรับอย่างเดียว วัดก็มีรายจ่ายที่มากทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ การจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ และสาธารณะสงเคราะห์ต่างๆ ด้วย