ผู้เชี่ยวชาญศาสนพิธี แนะ “เจริญพระพุทธมนต์” – “สวดมนต์” ควรใช้กับงานใด

0
5443

กรณีเกิดข้อเรียกร้องทางสื่อโซเชียลว่า “ใครก็ได้ช่วยด้วย” เป็นที่รับรู้กันในแวดวงพุทธศาสนาว่า งานที่มีการนิมนต์พระมาในพิธี หากเป็นงานมงคล พระที่นิมนต์มาจะให้ท่าน “เจริญพระพุทธมนต์” หากเป็นงานอวมงคล พระที่นิมนต์มาจะให้ท่าน “สวดพระพุทธมนต์” ซึ่งก็จำสืบกันมาช้านานแล้ว แต่เมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้ มีผู้เชี่ยวชาญงานพิธีท่านหนึ่งบอกว่า งานทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของพระภิกษุที่มรณภาพไปแล้ว พิธีที่จัดขึ้นให้เรียกว่า “พิธีเจริญพระพุทธมนต์” และไม่ต้องตั้งขันน้ำมนต์ โดยผู้เชี่ยวชาญผู้นั้นก็อ้างอิงจากพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่อีกทีหนึ่ง

ผู้โพสต์ท่านนี้ เขียนอีกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรเท่าไหร่นัก ในความคิดของผม แต่ปัญหามีอยู่ว่า จะทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าใจแบบนี้ทั้งหมด จะได้ไม่มีปัญหาตามมาทีหลังว่า “คนนั้นทำไม่ถูก” “หน่วยงานนั้นไม่มีคนมีความรู้”

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง ผู้เชี่ยวชาญงานศาสนพิธี (ขอสงวนนาม) โดยได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ควรต้องมีการให้ข้อมูลว่าทำไมถึงต้องใช้คำว่า​ “เจริญพระพุทธมนต์”  หรือ​ “สวดพระพุทธมนต์” เหตุเพราะเขาไม่ได้ให้เหตุผล​ ความจริงเขาจะต้องถามพระผู้ใหญ่รูปนั้นด้วย​ เพื่อเป็นองค์ความรู้ โดยความเข้าใจและจากการวิเคราะห์​ น่าจะได้สื่อกับพระสงฆ์ว่า​ “จะให้สวดอะไร”  จึงมีคำว่า​ “สวด” และ​ “เจริญ” เมื่อพระสงฆ์ได้รับฎีกาท่านสามารถรู้ได้ทันที พระสงฆ์ท่านจะได้สวดหรือเจริญให้ตรงกับพิธีนั้น​

ในกรณี “งานศพ”​ สวดประจำคืน​ หรือ​ ทำบุญครบ ๕๐​ วัน​ ๑๐๐​ วัน​ หรือ​ครบรอบวันตาย​ ต้องสวดมนต์บทต่างๆ​ เกี่ยวหลักธรรมความเป็นธรรมดาของสรรพสัตว์​ เพื่อผู้ฟังได้พิจารณา​ ซึ่งถือว่า​ เป็นงานอวมงคล​ จึงใช้คำว่า​ “สวด”

สำหรับงานที่เป็น “งานมงคล” ต่าง​ ๆ​ รวมทั้งการทำบุญฉลองอัฐิ​ ทำบุญเนื่องในโอกาสครบรอบอายุวันเกิดของบุคคลที่ตายไปแล้ว​ พระสงฆ์จะสวดเจ็ดตำนาน​ ซึ่งในบทต่างๆ​ นั้น​ จะเป็นการกล่าวถึงหลักการดำเนินชีวิต​ หรือสิ่งที่เป็นมงคลของสรรพสัตว์ทั้งหลาย​ ถ้าประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมก็จะถึงซึ่งความเจริญ​ ท่านจึงให้ใช้คำนิมนต์ในฎีกา​ ว่า​ “เจริญ”

“เพราะเหตุนี้กระมังครับ​ จึงให้ใช้คำในฎีกานิมนต์ที่แตกต่างกัน​ ว่า​ “นิมนต์”  หรือ​ “เจริญ”  เมื่อพระสงฆ์ท่านได้รับฎีกานิมนต์แล้ว​ ท่านก็สามารถทราบได้ทันทีว่าสวดบทใดบ้าง​ ไม่ต้องมาถามผู้ปฏิบัติว่าจะให้สวดบทใดเดี๋ยวผิดความประสงค์​ ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นครับ” ผู้เชี่ยวชาญงานศาสนพิธี กล่าว